เมื่อ‘นายกฯ’สวมบท หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

06 ก.ย. 2563 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2563 | 11:34 น.

 

 

คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,607 หน้า 10 วันที่ 6 - 9 กันยายน 2563

 

 

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 กรณีนายปรีดี ดาวฉาย ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากเป็นการชี้แจงเหตุผลการลาออกของนายปรีดีแล้ว ยังถือเป็นการยันบทบาทของนายกฯในการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

หากถอดหรัสจากข้อความระหว่างบรรทัด พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัดเจนว่า แม้นายปรีดีจะลาออก ทำให้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่างลง แต่ยืนยันว่ารัฐบาลทำงานได้อย่างแน่นอน เพราะมีระเบียบในการรักษาราชการในการกำกับดูแลอยู่แล้ว อีกทั้งมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พร้อมกำกับดูแลกระทรวงการคลัง

“ถ้ารัฐมนตรีไม่อยู่ก็ยังมีรัฐมนตรีช่วย ผมในฐานะหัวหน้าเศรษฐกิจก็เป็นคนขับเคลื่อนอยู่แล้ว เพราะทำงานร่วมกับคนเหล่านี้มาตลอดตั้งแต่ต้นของทุกโครงการ ข้อสำคัญเราอย่าพูดจนเกิดความเสียหาย ...ทำไมไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลทำงานได้ ซึ่งเราต้องทำงานให้ได้ ขออย่าไปติดยึดกับบุคคลมากนัก...ผมก็กำกับดูแลได้ ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าทั้งหมดในครม.หรือในการประชุมย่อย ผมก็สามารถสั่งการได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ขอให้ทุกคนมั่นใจและขอฝากไปถึงต่างประเทศด้วย เรายังคงเดินหน้าในทุกมิติเหมือนเดิม”

ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล จะพยายามแสดงให้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลไม่ได้มีปัญหา จากผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 ที่มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา 3 มาตรการ ประกอบด้วย 

1. มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย "คนละครึ่ง" เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปที่ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 และจำกัดการใช้จ่ายต่อคนตลอดโครงการ 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวนประมาณ 15 ล้านคน และกลุ่มร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไปครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า ผ่านกลไกการดำเนินงานผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล

 

 

 

 

2. มาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน นำเสนอโดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา โดยมีอัตราค่าจ้าง ตามวุฒิการศึกษาดังนี้ 

 

เมื่อ‘นายกฯ’สวมบท หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

 

ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินค่าจ้างร้อยละ 50 ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจะมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

3. มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มเติมภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยการเพิ่มสิทธิให้ผู้ลงทะเบียนจำนวน 3 สิทธิ ได้แก่ เพิ่มส่วนลดค่าที่พักร้อยละ 40 จำนวน 10 คืนต่อคน เพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยว สูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวัน หากท่องเที่ยวในวันจันทร์-พฤหัสบดี จะอุดหนุน 900 บาท ขณะที่วันศุกร์-อาทิตย์จะอุดหนุน 600 บาท และให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 2,000 บาทต่อที่นั่ง 

 

 

 

รวมไปถึงการให้สิทธิ์ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิในแพ็คเกจเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการดูแลเสถียรภาพทางด้านการคลัง ทั้งในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจัดเก็บรายได้ และการกู้เงิน ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบกับปัญหาวิกฤติิเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากนี้จึงต้องติดตามว่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร