หลังจากรัฐบาล โดยคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ออกมาตรการ "คนละครึ่ง" โดยช่วยค่าใช้จ่ายวงเงิน 3,000 บาทต่อคน ให้กับประชาชน 15 ล้านคน เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอย เป็นการลดค่าครองชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยว่า มาตรการ "คนละครึ่ง" หากมีการใช้จ่ายเต็มจำนวน จากเม็ดเงินของรัฐบาล 45,000 ล้านบาท และประชาชนอีกครึ่งหนึ่ง จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 90,000 ล้านบาท และเมื่อเกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจผ่านร้านค้ารายย่อยต่างๆ เชื่อว่า จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ 2 รอบประมาณ 200,000 ล้านบาท
“ถือเป็นเม็ดเงินจำนวนที่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับระยะเวลาในช่วงที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่า จะสามารถพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายให้ติดลบน้อยลง ไม่ให้เกิดการปลดคนงานหากสามารถเดินหน้าได้ตามแผน”
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะแจกเงินให้ประชาชนคนละ 3,000 บาท เพื่อซื้อของกับผู้ค้ารายย่อย โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องเติมเงินของตนครึ่งหนึ่งมาใช้ร่วมกับเงินรัฐบาล โดยรัฐบาลจะช่วยจ่าย 50% ของการใช้เงินผ่านช่องในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"
ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เบื้องต้นการใช้เงินจะถูกจำกัดไว้ที่วันละ 100-200 บาท และต้องนำไปใช้ในร้านค้ารายย่อยที่ขึ้นทะเบียน "ถุงเงิน" เพื่อให้เงินกระจายลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงในเรื่องการเข้าถึงมาตรการดังกล่าวของผู้ค้ารายย่อย หาบเร่แผงลอย รัฐบาลจะต้องหาวิธีการให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงมาตรการให้ได้อย่างแท้จริง เพราะถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และมีความสามารถในการแบกรับภาระน้อย หากได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุด เชื่อว่าจะสามารถประคองตัวอยู่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลางเดือนตุลาคมเปิดเว็บคนละครึ่งแจกเงิน3,000 บาท
สรุปมาตรการ www.คนละครึ่ง.com แจกเงิน 3,000 ใครได้สิทธิ์บ้าง