เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 “ดร.เอ้” ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามสถานการณ์ตึก สตง.ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว
รายการ “เข้าเรื่อง” ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ สนทนาถึงเบื้องหลังในวันลงพื้นที่ดังกล่าว ดร.เอ้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นภาพที่ช็อกโลกสำหรับตนเอง เพราะตลอดชีวิตไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ที่อาคารสูง 33 ชั้นถล่มลงมาเหลือเศษซากสูงเท่ากับตึก 9 ชั้น ซึ่งถือว่าสูงมาก ย้ำว่าไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อนเลย โดยเฉพาะจากพลังของแผ่นดินไหว
ประเด็นที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ต้องมีการทำงานคู่ขนานกัน ระหว่างฝ่ายกู้ชีพกู้ภัย และฝ่ายเก็บรวบรวมหลักฐาน เพื่อหาสาเหตุการถล่มควบคู่ไปด้วยไม่ใช่รื้อไปแล้วจบ สุดท้ายเราอาจไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้น งานนี้จะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ที่สำคัญ ปัจจุบันประเทศไทย ไม่มีองค์กรกลางเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ไปทํางานเหมือนกับ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ยุโรป หรือ อเมริกา มีแต่ให้เจ้าของงานที่พังไปหาสาเหตุกันเอง
ดร.เอ้กล่าวต่อไปว่า ตามหลักแล้วมีอยู่ไม่กี่อย่าง ในกรณีนี้เหลือเพียงแค่ 2 อย่างเท่านั้น คือ
ซึ่งเรื่องการออกแบบและคำนวณ หากนำผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นกลางมาตรวจสอบ ก็สามารถตอบได้ทันที
ดร.เอ้กล่าวทิ้งท้ายสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่า อันดับแรกทุกคนต้องปรับทัศนคติ เพราะเมื่อก่อนทัศนคติคือ เรื่องไกลตัว สึนามิอยู่ใต้ เมียนมาอยู่เชียงใหม่เชียงรายเท่านั้นซึ่งในวันนี้ไม่ใช่แล้ว คนไทย คนกรุงเทพฯ ภัยแผ่นดินไหวอยู่กับเราแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องปรับทัศนคติ มันอาจเกิดขึ้นอีก อาจจะแรงกว่านี้ก็ได้ เราจะอยู่ยังไงให้ปลอดภัย การอยู่ให้ปลอดภัยก็คือ เราต้องรู้จักมัน ว่ามันคืออะไร
ดังนั้นในทุกหลักสูตรตั้งแต่เด็ก ต้องรู้ว่าแผ่นดินไหวคืออะไรและทุกคนต้องรู้ เพราะเด็กเล็กช่วยตัวเองไม่ได้ ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ก็ยิ่งอันตราย สื่อการเรียนการสอน ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน รวมถึงยูทูป ควรให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวอย่างครบถ้วน
ข้อต่อมาถ้าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นต้องทำตัวอย่างไร สัญชาตญาณคือสิ่งสำคัญ แต่ละบ้านเมืองไม่เหมือนกัน เช่น บ้านญี่ปุ่นทำจากไม้และกระดาษ หากอยู่ใต้โต๊ะจะปลอดภัย แต่ถ้าเป็นอาคารสูง มีของตกใส่หัว ถ้าไม่มีโต๊ะก็อาจตายได้ เราต้องวิ่งหนีแต่จะวิ่งยังไงให้ปลอดภัย การฝึกฝนจนเกิดเป็นสัญชาตญาณสำคัญมาก เพราะแต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ไม่มีคำสอนใดใช้ได้กับทุกสถานการณ์
สุดท้าย รัฐบาลต้องปรับการเตือนภัย แผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ไหน เช่น เมียนมา หรือ สุมาตรา ก็ต้องมีเวลาประกาศเตือนทันที เหมือนที่โตเกียวแผ่นดินไหวยังไม่เกิดแต่สัญญาณเตือนมาก่อนแล้ว การจัดการเรื่องภัยพิบัติต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน บุคลากรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรได้รับการอบรม และอาจต้องไปฝึกงานในประเทศที่เผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อย ๆ พื้นที่ทดสอบในไทยอาจยังเล็กเกินไป ไม่เคยเจอกรณี 33 ชั้น
ดังนั้น เราต้องสังคายนาทัศนคติ การเรียนรู้ทุกเพศทุกวัย และการจัดการของรัฐในเรื่องการเตือนภัยและการกู้ภัยให้ชัดเจน และต้องมีการสังคายนากฎหมายก่อสร้างของประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะไม่ได้มีความล้าหลัง เพราะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กฎกระทรวงเองก็ไม่ได้ล้าหลัง โดยระบุว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเขตความเสี่ยงปานกลาง แต่อาจต้องอัปเกรดข้อมูล เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว อาคารสูงถล่มลงมาแบบนี้ แสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่ความเสี่ยงปานกลางอีกต่อไป