นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมติดตามความพร้อม แผนบริหารจัดการสาธารณภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ด้านอุทกภัย ภัยแล้ง และไฟป่า รวมถึงการติดตามการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินของราษฎร ในพื้นที่ตำบลสุไหงปาดีทับซ้อนที่ดินของรัฐ ณ ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส โดยมี นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตำบลสุไหงปาดี เข้าร่วมประชุมและรายงานผลการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ รมช.มหาดไทย ได้มอบนโยบายในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และไฟป่า ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับมือป้องกันเผชิญเหตุ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งด้านหน่วยปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่ ทั้งในส่วนของด้านกำลังพล เครื่องจักรกล งานระบบสื่อสารเพื่อให้มีความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่ให้มีการทบทวนและปรับปรุงแผนที่อุทกภัยของจังหวัดให้สอดคล้องกับอุทกภัยสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยหน่วยงานต่างๆ ต้องตรวจสอบและเตรียมความพร้อม วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือแจ้งเตือนภัย ให้มีความพร้อมใช้งาน และต้องมีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เส้นทางอพยพชั่วคราว ศูนย์พักพิงชั่วคราว ตลอดจนการซักซ้อมความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ และประชาชน ถึงแนวทางปฏิบัติ เพื่อลดความสับสน
รวมถึงเร่งทำการขุดลอกท่อระบายน้ำ กำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถรองรับน้ำ และระบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดช่องทางแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบทางสื่อต่างๆ ทั้งของชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมจึงเป็นกลไกที่สำคัญ ที่จะทำให้การปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถลดความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้
รวมถึงความสำคัญกับการแจ้งเตือนภัยอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และเข้าถึงประชาชนได้ตรงจุด การสร้างเครือข่ายประชาสังคม อาสาสมัคร กู้ภัยในพื้นที่ ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการ จัดการในภาวะฉุกเฉินตามแผนที่กำหนด รวมถึงการซักซ้อมแผนให้พร้อมดูแลประชาชน และสามารถบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย ภัยแล้ง และไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ยังได้ฝากในเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนน ว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้การเสียชีวิตบนท้องถนน มีจำนวนประมาณหมื่นกว่ารายแล้ว ฉะนั้นจึงถือเป็นภัยที่คุกคาม ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทย ดังนั้น เรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังคงเป็นภารกิจที่ต้องขอความร่วมมือที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
โดยความร่วมมือระหว่างท้องที่ และ ท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่อย่างจริงจัง โดยการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเข้มงวดตลอดทั้งปี และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบให้ความสำคัญ กับการออกแบบการแก้ปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย ในถนนที่รับผิดชอบ ให้มีความปลอดภัย และกำหนดให้มีการประชุม ศปถ.จังหวัด ศปถ.อำเภอ และศปถ.อปท. เป็นประจำทุกเดือน
นอกจากนี้ รมช.มหาดไทย ยังได้ติดตามในเรื่องโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโกลกในระยะที่ 1 ซึ่งก้าวหน้าไป 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนระยะที่ 2 ก็จะดำเนินการต่อจากระยะที่ 1 ต่อไป และยังได้รับทราบความประสงค์ของหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสในเรื่องแนวรั้วชายแดนกับด่านพรมแดน ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ว่าความประสงค์ที่จะให้ดำเนินการต่อเนื่องไปถึงพื้นที่อำเภอตากใบ ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและแก้ไขปัญหาไฟป่าพรุนั้น ก็ทราบว่าทั้งชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแผนงานที่ชัดเจน
ในส่วนของเรื่องปัญหาที่ดิน การออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นนโยบายของรัฐบาลในการที่จะมาดูแล แก้ปัญหาในเรื่องของการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีปัญหาทับซ้อนระหว่างที่ดินของรัฐ กับที่ดินของประชาชน
“ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปกำหนดแนวเขตระหว่างที่ดินของรัฐไม่ว่าจะเป็นที่ดินป่าไม้ หรือป่าพรุ ที่ดินเขตห้ามล่าทั้งหลายทั้งปวง กับที่ดินของประชาชน ที่ดินใดมีข้อพิพาทอยู่แล้วและไม่ใช่ที่ดินของรัฐ ผมในฐานะที่ดูแลกรมที่ดิน ก็มีความประสงค์จะเร่งรัดที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชน อันนี้ก็ยังเดินหน้าต่อ เมื่อเราทราบแนวเขตแล้วก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาออกสำรวจรังวัด ออกเอกสารสิทธิ์ให้กับพี่น้องประชาชน”
ในส่วนของที่ดินของรัฐซึ่งประชาชนไม่สามารถพิสูจน์สิทธิ์ได้ว่าถือการครอบครองมาก่อน ก็จะต้องนำไปสู่กระบวนการที่นำไปสู่ คทช.ที่เรียกว่าเป็นกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาล ออกมาใหม่เป็นเครื่องมือในการดูแลจัดการเรื่องที่ดินทำอย่างไรจะให้พี่น้องประชาชน แม้จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาก่อนก็ถือว่าพี่น้องในชุมชนนั้น หรือว่าในนามองค์กรนั้นๆ เขาสามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้ จะเป็นการเช่าก็ดีหรือจะเป็นตามข้อตกลงกัน แต่เขาจะไม่อยู่ในฐานะผู้บุกรุก นี่คือสิ่งที่แสดงความประสงค์ และให้มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาในเรื่องที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน
“วันนี้ถือว่ามาทั้งเรื่องอุทกภัย และมาทั้งเรื่องของที่ดินรวมถึงขอความกรุณาผู้ว่าฯ นราธิวาส ให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งถือว่ามีสถิติการเสียชีวิตที่สูงอยู่ อยากจะเห็นทุกฝ่ายได้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นกลไกของ ศูนย์ความปลอดภัยบนท้องถนนระดับจังหวัดศูนย์ความปลอดภัยบนท้องถนนอำเภอศูนย์ความปลอดภัยบนท้องถนนระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการที่จะดูแล เราประสบผลความสำเร็จในเรื่องของ covid-19 เพราะทุกฝ่ายบูรณาการกัน จึงอยากเห็นการบูรณาการแบบนี้ในทุกภารกิจของประเทศที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้อีกด้วย” นายนิพนธ์ ระบุ