ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า
การพัฒนาวัคซีน ถ้ามองย้อนไปถึงสมัย เอดเวิร์ด เจนเนอร์ ได้ปลูกฝีให้กับเด็กคนแรก ในปี 2339 เพื่อป้องกันฝีดาษ โดยสังเกตจากหญิงรีดนมที่เป็น ฝีดาษวัว แล้วไม่เป็นฝีดาษคนและเป็นผู้ใช้ศัพท์คำว่า วัคซีน ซึ่งมาจากภาษาลาตินแปลว่า วัว
ต่อมาในสมัย หลุยส์ ปาสเตอร์ เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ได้มีคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคได้ ทั้งที่ท่านไม่ได้เป็นแพทย์
ท่านก็ไม่ได้มีวิธีการขั้นตอน เริ่มจากสัตว์ทดลอง แล้วมาทดลองในคนระยะที่ 1 2 3 แต่วัคซีน ที่ใช้แบบสมัยของหลุยส์ ปาสเตอร์ หลายคนคงเคยรู้ว่า ฉีดรอบสะดือ 17-21 เข็ม และมีอาการข้างเคียงมาก สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ แต่อาการข้างเคียงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
วิธีดังกล่าวจึงได้เลิกใช้
ในปัจจุบันการศึกษาวัคซีน ไม่ใช่บอกว่ากระตุ้นภูมิต้านทานได้แล้ว ในสัตว์ทดลอง แล้วบอกว่าทำได้แล้ว ยังมีขั้นตอนการทดสอบความเป็นพิษ ทดสอบความปลอดภัยในระยะต่างๆ
การศึกษาในมนุษย์จะต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานที่มีการทดลองอย่างดีและการเตรียมวัคซีนอย่างดีในขั้นทดลองในสัตว์ทดลอง ก่อนจะมาถึงการศึกษาความปลอดภัยในมนุษย์
จึงใช้ระยะเวลาการศึกษายาวนาน กว่าจะได้วัคซีนใหม่ แต่ละตัวโดยเฉลี่ยถึง 10 ปี แต่เมื่อมาถึงโรคระบาดที่มีความรุนแรงและรวดเร็ว ทุกคนจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงมีการศึกษาวิจัยในแต่ละขั้นตอนให้รวบรัดขึ้น แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
วัคซีน โควิด 19 นี้ สามารถรู้ผลได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็ถือว่าทำเร็วกว่าปกติเป็น 10 เท่าทีเดียว
จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์การผลิตวัคซีน
ในอดีตการคิดค้นวัคซีน จะใช้บุคคลคนเดียว หรือกลุ่มเล็ก
แต่ในปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้แล้ว
การทำงานจะต้องทำเป็นทีมใหญ่ ใช้หลายศาสตร์มารวมกัน
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 29.1 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 9.2 แสนราย
"อังกฤษ" สั่งห้ามรวมกลุ่มเกิน 6 คน ตั้งแต่ 14 ก.ย.นี้ หลังยอดติดเชื้อพุ่ง