S&P เดินหน้าดันยอดขายไตรมาส4 ฟื้น   

18 ก.ย. 2563 | 02:00 น.

เอสแอนด์พี เดินหน้ารุกร้านอาหาร-เบเกอรี่ ชู “Market Segmentation” อัดแผนการตลาด พลิกยอดขายไตรมาส 4 ฟื้น

นายอรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการธุรกิจ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้าน “เอสแอนด์พี” เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทติดลบเป็นครั้งแรกตั้งแต่เปิดดำเนินการมา ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าสถานการณ์ต่างๆจะเริ่มกลับมาดีขึ้น ส่งผลให้ยอดขายดีขึ้น หลังจากที่มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ๆทั้งในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ ทั้งการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด อาทิ เค้กนุ่มเนยสด, ขนมขาไก่, ครัวซองท์ อัลมอนด์ เป็นต้น รวมทั้งการขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่อง

 

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจนับจากนี้จะเน้นการบริหารจัดการด้านการปฏิบัติงาน เพื่อควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งต้นทุนสินค้า แรงงาน ค่าเช่า, การขยายสาขาทั้งร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังชูกลยุทธ์ Market Segmentation การแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับบน คือร้านเอสแอนด์พี ที่ตั้งอยู่ในห้าง ระดับกลาง คือร้านเอสแอนด์พี ในพื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ และระดับล่าง คือร้านเอสแอนด์พี ในหัวเมืองรอง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่มให้ตรงกับความต้องการ

อรรถ ประคุณหังสิต

“ไดเรคชั่นของเอสแอนด์พีในปี 2564 คือ มุ่งมั่น เติบโต ธุรกิจหลัก สร้างสรรค์ ผลักดัน ธุรกิจใหม่ โดยธุรกิจหลักได้แก่ ร้านอาหารไทย เบเกอรี่ เค้กปอนด์ และสแน็คบ็อกซ์ ส่วนธุรกิจใหม่ ได้แก่ บริการดีลิเวอรี ซึ่งล่าสุดบริษัทได้จับมือกับพาร์ทเนอร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนาด้านซีอาร์เอ็ม เพื่อต่อยอดและสร้างความแข็งแรงให้กับดีลิเวอรี พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนรายได้จากปัจจุบัน 15% เป็น 20% ในปี 2564 ด้วย”

 

ปัจจุบันดีลิเวอรี เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม ซึ่งจุดแข็งของเอสแอนด์พี คือการมีทีมดีลิเวอรีของตัวเอง และยังมีพาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการฟู้ด ดีลิเวอรี ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าหลักคือกลุ่มครอบครัว มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 900 บาทต่อบิล ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ คนทำงานที่มีอายุ 20-25 ปี ให้เพิ่มมากขึ้น

S&P เดินหน้าดันยอดขายไตรมาส4 ฟื้น   

ด้านแผนการลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้ยังต้องชะลอออกไปก่อนอย่างน้อย 1 ปี หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ทั้งที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จากปัจจุบันที่มีอยู่ในกัมพูชา 5 สาขา โดยเป็นการลงทุนของเอสแอนด์พีเอง

นายอรรถ กล่าวต่อว่า การมุ่งมั่นก้าวเข้าสู่คอนวีเนียน เบเกอรี่ช้อป เพราะเอสแอนด์พี มีจุดแข็งที่มีโรงงานผลิตแบบครบวงจรถึง 3 แห่ง ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา มีบริการดีลิเวอรีที่แข็งแรง ทำให้เชื่อมั่นว่าจะตอบรับความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันก็พร้อมเดินหน้าลงทุนในการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของร้านอาหาร และร้านเบเกอรี่อีก 15-20 จุดขายต่อปี โดยใช้เงินลงทุน 2 ล้านบาทต่อจุดขาย

S&P เดินหน้าดันยอดขายไตรมาส4 ฟื้น   

“จุดแข็งหนึ่งของร้านเอสแอนด์พี คือ การมีสาขาตั้งอยู่ทั้งในห้างศูนย์การค้า และสแตนด์อโลน ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 แม้สาขาในห้างและศูนย์จะปิดให้บริการ แต่ยังมีสาขาสแตนด์อโลนที่สามารถเปิดให้บริการได้ อย่างไรก็ดีโควิดทำให้ผลประกอบการของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายติดลบไม่เกิน 10% จากเดิมต้นปีที่ตั้งเป้าหมายจะมีการเติบโต 9%”

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,610 วันที่ 17 - 19 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟาสต์ฟู้ดยุคใหม่ “ไร้เงินสด-ไร้สัมผัส-ไม่ต้องรอ”

พาณิชย์ฯ มอบ Thai SELECT การันตีคุณภาพร้านอาหารไทย

ZEN เร่งเครื่องครึ่งปีหลัง รับดีมานด์ร้านอาหารฟื้น