3 บก.ฟันธง ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ก่อวิกฤติรอบใหม่

25 ก.ย. 2563 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 11:45 น.

“3 บก.”ฟันธงตั้งกมธ.ศึกษาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ โหมไฟม็อบ-ก่อวิกฤติรอบใหม่ ปลุก“นักศึกษา-ประชาชน”ชุมนุมไล่รัฐบาล ชี้ปชป.เข้าตาจนผูกปมลาออกรัฐบาล จับตา “บิ๊ก ป.” ตั้งพรรคใหม่ ทิ้งสามมิตร

 

การประชุมร่วม “รัฐสภา” 2 วัน ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา แม้จะมีการอภิปรายเสนอเหตุผลในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ และมีสมาชิกอภิปรายทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย อย่างไรแล้ว  

 

แต่ในที่สุดพอถึงเวลาที่จะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาศึกษาญัตติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง แม้จะมีการคัดค้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นผล 

 

ผลการโหวตปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 717 คน โหวตเห็นด้วย 432 เสียง ไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง 

 

โดยเสียงเห็นชอบส่วนใหญ่คือ พรรคพลังประชารัฐ, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนเสียงไม่เห็นด้วยเป็นพรรคฝ่ายค้านเกือบทั้งหมด และมีส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ 48 คน ที่ร่วมโหวตไม่เห็นด้วย 

 

จากการตรวจสอบพบว่า มี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่ลงมติสวนทาง คือ นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส. ปทุมธานี ​พรรคเพื่อไทย ที่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.

 

3 บก.ฟันธง  ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ก่อวิกฤติรอบใหม่

 

 

 

48 ปชป.โหวตสวนรัฐ

 

ขณะที่เสียงฝ่ายรัฐบาล พบมีเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ลงมติไม่เป็นไปตามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำจัดตั้งรัฐบาล แบ่งเป็นลงคะแนน งดออกเสียง ได้แก่ พรรคพลังท้องถิ่นไท ทั้ง 5 เสียง, พรรคชาติพัฒนา ทั้ง 4 เสียง, นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย    

 

ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 10 เสียง ส่วน 2 เสียงเห็นด้วยกับรัฐบาล คือ นายประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ นายมงคล สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ไม่ลงคะแนน

 

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.  พบว่า มี 48 ส.ส.ที่ยืนยันตามมติพรรค ส่วน นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานรัฐสภา งดออกเสียง ทั้งนี้มีส.ส.ที่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. คือ  นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร และ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. ราชบุรี ที่มาจากสาย กปปส. 

 

ยื้อแก้รธน.ก่อวิกฤติใหม่

 

ในรายการ “พูดตรงๆ กับ 3 บก." ซึ่งดำเนินรายการโดย นายสมชาย มีเสน นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร และ นายบากบั่น บุญเลิศ วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติให้ตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า สถานการณ์ที่ทำให้เกิดการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดจาก ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีไม่เกิน 30 เสียงที่จะรับร่างแก้ไข แต่จำเป็นต้องมีเสียง ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง 

 

 

 

ดังนั้น หากโหวตก็มีความเป็นไปได้สูงที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถูกตีตกทุกญัตติ ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปลี่ยนใจ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค พปชร.

 

ฉะนั้นเกมการเมืองหลังจากนี้ต้องจับตาท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค ปชป. ซึ่งโหวตสวนมติของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแกนนำพรรคปชป.เรียกประชุมภายหลังการประชุมรัฐสภา ยอมรับกันว่า “เราถูกหลอก” โดนตลบหลังขอไปศึกษาการแก้ก่อน

 

 

3 บก.ฟันธง  ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ก่อวิกฤติรอบใหม่

 

 

“ผู้ใหญ่ในพรรคปชป.ยืนยันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะนี่คือจุดยืนที่เข้าร่วมรัฐบาล และหากปชป.ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ขณะนี้พรรคการเมืองอื่นก็ปิดสวิตช์เข้าร่วมรัฐบาลเช่นกัน เพราะเขาไม่ร่วมสังฆกรรมกับการตั้งกมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเอาพรรคอื่นมาเป็นอะไหล่คงไม่ได้แล้ว พรรคฝ่ายค้านจะแปลงกายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นหมา”

 

แก้รธน.ล่มปชป.ถอนตัว

 

ที่สำคัญหากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องตกไป มีโอกาสที่พรรคปชป.จะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะจะโดนกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แม้จะออกมาแถลงขอโทษประชาชน แต่พรรคภท.ไม่ได้มีจุดยืนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ตอนต้น

 

“สิ่งที่ทำให้รัฐบาล พรรคพปชร. ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะมั่นใจว่าม็อบจุดไม่ติด ซึ่งอาจจะลองดูการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม อีกครั้งหนึ่ง บางทีคนอยู่ในอำนาจเส้นผมบังภูเขา” นายสมชาย ระบุ

 

รายการ 3 บก.วิเคราะต่อไปว่า สำหรับโอกาสที่จะเกิดการยุบสภา ต้องยอมรับว่าการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้ม็อบ ซึ่งเดือนตุลาคมนี้ ิเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ม็อบจุดติด ม็อบเห็นโครงสร้างของคะแนน เขาจะไปกดดันพรรคปชป. และทวงถามจุดยืนของพรรคภท. 

 

“การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม หากมีประชาชนเข้าร่วมเยอะ พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะต้องกลับมาแก้รัฐธรรมนูญ ต้องโดนทุบก่อนถึงจะยอม”

 

 

 

จับตา “บิ๊กป.” ตั้งพรรคใหม่

 

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าว “ผู้มีอำนาจบางคน” ได้เตรียมพรรคสำรองเอาไว้ เพราะพรรคเก่าใช้ไม่ได้แล้ว มี 1 ใน “บิ๊ก ป.” สั่งการ โดยพรรคใหม่จะไม่เอากลุ่มสามมิตรทำให้กลุ่มสามมิตรต้องหาที่ใหม่ หรือไม่ก็ยึดซากพรรค พปชร. 

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังไม่ตกผลึกพอ เพราะมีบางส่วนอยากมีอำนาจรัฐ บางส่วนอยากจะอยู่กับม็อบบางส่วนรอไฟเขียวจากคนแดนไกล แต่สถานการณ์ขณะนี้กลุ่มไม่อยากเข้าร่วมรัฐบาล อาจจะมีจำนวนมากกว่า 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,613 หน้า 12 วันที่ 27 - 30 กันยายน 2563