นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้เอปสันมี 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ B2B และ B2C ซึ่งในปีที่ผ่านมามีลูกค้าในกลุ่ม B2B 25% และ B2C 75% เป็นส่วนที่บริษัทให้ความสำคัญโดยเน้นพัฒนาต่อยอดการขายในกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยคาดว่าปีนี้จะปรับสัดส่วน B2C เป็น 70% และ B2B 30% นอกจากนี้ยังมีการลงทุนเพิ่มจำนวนคนและการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของพนักงาน รวมถึงกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับการหาพาร์ทเนอร์ เช่น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ คนขายซอฟต์แวร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่ทำให้ธุรกิจ B2B เติบโตอย่างมั่นคง ทั้งนี้ภาพรวมตลาดโปรเจ็กเตอร์กลุ่ม B2B นั้นเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8% ปี 2562 ที่ผ่านมาเอปสันมีมาร์เก็ตแชร์โปรเจ็กเตอร์ในไทยอันดับ 1 อยู่ที่ 44% โดยคาดการณ์ปี 2563 นี้ตลาดเลเซอร์โปรเจ็กเตอร์จะมีสัดส่วนเป็นครึ่งนึงของตลาดโปรเจ็กเตอร์ทั้งหมด
ปัจจุบันตลาดโปรเจ็กเตอร์ทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วง technological shift หรือการเปลี่ยนเทคโนโลยีจากการใช้หลอดภาพมา เป็นเครื่องกำเนิดแสงเลเซอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า ขณะที่ราคาก็เริ่มจับต้องได้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับทุกองค์กรที่ต้องการซื้อเลเซอร์โปรเจ็กเตอร์ไปใช้ หรือนำไปทดแทนเครื่องรุ่นเดิมในธุรกิจของตนเอง ซึ่งเอปสันมีสินค้าเลเซอร์โปรเจคเตอร์จำหน่ายในตลาดมากกว่า 20 รุ่น ตั้งแต่ระดับความสว่าง 2,000 ไปจนถึง 30,000 ลูเมน ครอบคลุมทุกความต้องการใช้งานในทุกประเภทสถานที่ทั้งนี้ภาพรวมตลาดโปรเจ็กเตอร์ปี 2562 ที่ผ่านมาติดลบ 25% ซึ่งการเติบโตของตลาดโปรเจ็กเตอร์ที่หายไปนั้นเกิดขึ้นในกลุ่มสินค้ารุ่นเล็ก ความสว่างไม่เกิน 4,000 ลูเมน ที่ใช้ตามบ้านหรือในร้านค้าขนาดเล็กสวนทางกับตลาด B2B ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเอปสัน ที่ประกอบด้วยเอสเอ็มอี บริษัทขนาดใหญ่ สถาบันศึกษา หน่วยงานราชการ ออร์แกไนเซอร์ และธุรกิจบันเทิง ที่ต้องการใช้โปรเจ็กเตอร์ความสว่างปานกลางถึงสูงพิเศษ ความละเอียดระดับ Full HD
“ในปี 2563 แม้จะมีวิกฤติโควิด-19 แต่ตลาดโปรเจ็กเตอร์ กลับไม่ได้หดตัวรุนแรงเหมือนที่มีการคาดการณ์ เอปสันเริ่มออกสินค้าใหม่สู่ตลาดตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับค่อนข้างดีทั้งยังมีแผนที่จะเปิดตัวเลเซอร์โปรเจ็กเตอร์รุ่นใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายในช่วงสิ้นปี”
อย่างไรก็ตามการที่ตลาดโปรเจ็กเตอร์จะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การที่รัฐบาลมีมาตรการด้านการท่องเที่ยวออกมามากมาย หรือพยายามผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ (MICE) ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการกำหนดให้สถานที่จัดงานไมซ์ประเภทต่างๆ ที่จะได้รับการรับรองตามมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) จากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB จำเป็นต้องมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี อีกทั้งการที่ภาคเอกชนมีความคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์อีเวนต์และสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ อย่างงาน House of Illumination ที่เอปสัน ประเทศไทยได้ร่วมกับอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ และเซ็นทรัลเวิลด์ จัดขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในองค์กรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,622 หน้า 16 วันที่ 29-31 ตุลาคม 2563