ผู้เลี้ยงยันคำเดิม ค้านนำเข้าหมูมะกัน

31 ต.ค. 2563 | 07:30 น.

ผู้เลี้ยงหมูแฉต้นเหตุ จีนห้ามนำเข้าหมูมะกันเลยหันบีบไทย อีกเหตุสั่งตัดจีเอสพี ค้านหัวชนฝานำเข้าหมูสหรัฐฯที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ชี้อันตรายผู้บริโภค เผยต้นทุนการเลี้ยงต่ำกว่าไทย 1 เท่าตัว เปิดเมื่อไหร่เกษตรกรตายหมู่

กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) สินค้าไทยหลายรายการคิดเป็นมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563  ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการตัด GSP สินค้าไทยในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกรณีไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อสุกร หรือ “หมู” และเครื่องในจากสหรัฐฯ ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนในการเลี้ยงให้กับสหรัฐฯ

 

นายสุรชัย  สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  การตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯในครั้งนี้ คงมีเหตุผลส่วนหนึ่งจากที่ไทยยังไม่เปิดตลาดสินค้าหมูจากสหรัฐฯที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง ซึ่งจะกระทบต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค แม้สหรัฐฯจะระบุว่า สินค้าที่ส่งเข้ามาสามารถติดฉลากแยกแยะได้ว่าเป็นสินค้าที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง หรือไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้นั้น ในความเป็นจริงการผลิตสินค้าของแต่ละประเทศคงไม่สามารถทำสองมาตรฐานได้ และไทยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสินค้าที่ติดฉลากว่าไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ไม่มีการใช้จริง

 

ผู้เลี้ยงยันคำเดิม ค้านนำเข้าหมูมะกัน

                                  สุรชัย  สุทธิธรรม

“เรื่องการนำเข้าสินค้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง เป็นเรื่องเซ้นซิทีฟ(ละเอียดอ่อน) และกระทบด้านจิตวิทยาต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย เพราะบ้านเราห้ามใช้สารนี้ในการเลี้ยงหมู และขอให้รัฐบาลดำเนินการจนถึงที่สุดเพื่อไม่ให้มีหมูสหรัฐฯ เข้ามา เพราะตัวอย่างสมัยที่คุณอมเรศ  ศิลาอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดให้มีการนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ มาแค่ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้กระทบด้านจิตวิทยา ทำให้ราคาหมูในประเทศร่วงลงทันที จนต้องระงับการนำเข้า และถือเป็นบทเรียนต่อเกษตรมาจนถึงทุกวันนี้”

 

สำหรับสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตสุกร(หมู) อันดับ 3  ของโลก รองจากจีน และบราซิล โดยรัฐบาลสหรัฐฯได้มีการจัดตั้งสภาผู้เลี้ยงสุกรของสหรัฐฯ(NPPC) โดยเก็บเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับหมูที่คลอดออกมาทุกตัวเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมอุดหนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีผลประโยชน์โยงใยถึงเกษตรกรในการสนับสนุนภาคการเมือง ที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีการส่งออกผลิตภัณฑ์สุกรที่ไม่นิยมรับประทานในประเทศ เช่น หัว ขา เครื่องใน มีตลาดใหญ่ที่จีน และเวียดนาม

 

ผู้เลี้ยงยันคำเดิม ค้านนำเข้าหมูมะกัน

อย่างไรก็ดีจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน มีผลให้จีนใช้มาตรการตอบโต้โดยห้ามนำเข้าหมูสหรัฐฯ  ส่งผลให้สหรัฐฯต้องหันไปไปทำตลาดเวียดนามเพิ่มขึ้น ซึ่ง ณ ปัจจุบันเวียดนามยังมีปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) ระบาด ทำให้ผลผลิตในประเทศลดลง และต้องนำเข้าหมูมากขึ้น ซึ่งจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น(รวมนำเข้าจากไทย)ทำให้เวลานี้ราคาหมูในเวียดนามปรับตัวลดลงจากเกือบ 1 หมื่นด่องต่อกิโลกรัม(กก.) เหลือประมาณ 7,800 ด่องต่อ กก.ในปัจจุบัน

 

“นอกจากสหรัฐฯเป็นผู้ผลิตหมูรายใหญ่ของโลกแล้ว เขายังเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ มีต้นทุนการผลิตแค่ 3.20 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์แล้ว ต้นทุนการผลิตหมูของสหรัฐฯตกแค่ 35 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ไทยมีต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย 71 บาทต่อกิโลกรัม ต่างกัน 1 เท่าตัว ดังนั้นเรายืนยันล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่อยากให้หมูสหรัฐฯนำเข้ามา ไม่เช่นนั้นจะกระทบเกษตรผู้เลี้ยงหมูอย่างรุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศของอาเซียน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดเบื้องลึก สหรัฐ ตัด GSP สินค้าไทย เหตุห้ามนำเข้าหมูใช้สารเร่งเนื้อแดง

สหรัฐ ตัด GSP กระทบส่งออกไทยไปมะกัน ลุ้น “ไบเดน”ผู้นำคนใหม่ได้คืนสิทธิ

ทรัมป์ประกาศตัด GSP สินค้าไทย-มีผล 30 ธ.ค.นี้