ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารกว่า 8 แสนล้านบาทเมืองไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงโค้งท้ายที่ถือเป็นไฮซีซั่น หลังจากมาตรการ “คนละครึ่ง” กลายเป็นยาแรงที่ช่วยผลักดันสตรีทฟู้ดมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด 2-3 เท่า ขณะที่เชนร้านอาหารดัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต้องปิดกิจการชั่วคราว มาจนถึงวันนี้ยังต้องเฝ้าระวัง พร้อมปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายจึงต้องเร่งปรับแผนรองรับกำลังซื้อที่กำลังจะเข้ามา
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในช่วงไตรมาส 4 นี้ น่าจะมีสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ก็ยังต้องยอมรับว่าอาจจะมีผลกระทบที่ยังได้รับต่อเนื่องมาจากช่วงต้นไตรมาสที่ 3 เช่นการปิดตัวของธุรกิจต่างๆ จะเห็นได้ว่าสภาพเศรษฐกิจหดตัวลงค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 4
“จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาพรวมธุรกิจอาหารจะหดตัวลงราว 10% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและกำลังซื้อที่หายไป”
อย่างไรก็ดีเป้าหมายของบริษัทในปีหน้าจะมียอดขายราว 1.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด โดยกลยุทธ์หลักนับจากนี้คือบริการดีลิเวอรี, การบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน การควบคุมค่าใช้จ่ายในทุกส่วน, การเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานเพื่อเสริมการลดต้นทุน เช่น การนำ BI (Business Intelligence) มาวิเคราะห์เพื่อให้เราได้ทำการตลาดให้ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ลดเวลาการทำงาน, การต่อยอดธุรกิจจากสินทรัพย์เดิมที่มี ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มช่องทางการขายให้กับบริษัทได้ ยกตัวอย่าง เช่น ดีลิเวอรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะขยาย Cloud Kitchen มีผู้ประกอบการหลายๆเจ้าเริ่ม ทำครัวกลาง โดยการนำเอาหลายๆ ร้านมารวมเป็นครัวเดียวกัน เพื่อต่อยอดให้กับตลาดดีลิเวอรีให้เติบโตและแข็งแกร่งได้มากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง” หนุนธุรกิจร้านอาหารฟื้น
ด้านนางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหารฟู้ดแพชชั่น กล่าวว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดร้านอาหารในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ หลังจากที่ภาพรวมธุรกิจตลอดทั้งปีได้รับผลกระทบจากการระบาของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อให้ลดลง บริษัทจึงได้มีการปรับกลยุทธ์ด้วยการการบริหารจัดการงบการตลาดแบบใหม่ โดยตัดงบการตลาดที่ไม่จำเป็นและหันไปโฟกัสไปที่ Online marketing หรือว่า Viral marketing ที่แปลกและแหวกแนวขึ้น
นอกจากนี้ยังได้เตรียมจับมือกับ GDH ในการทำแคมเปญร่วมกับภาพยนตร์เรื่องใหม่ “อ้ายคนหลอกลวง” ก็ในการครอสโปรโมชั่นร่วมกันโดยการให้ลูกค้าที่มารับประทานอาหารของร้านในเครือสามารถนำไปลดหางตั๋วของหนังเรื่องนี้ได้ตลอดช่วงเดือนพ.ย. ไปจนถึง ธ.ค. ก่อนจะเตรียมเปิดตัวแคมเปญใหญ่ในช่วงปลายเดือนธันวาคม เพื่อส่งท้ายเป็นของขวัญสิ้นปีให้ลูกค้าและกระตุ้นตลาดอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ประเมินว่าภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ติดลบจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลอดช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาพบว่ายอดขายเคยได้ 100% เหลือเพียง 10% ในช่วงที่มีการปิดล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมทั้งปีไม่น่าจะบวก ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4 นี้ มองว่าอาจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวของภาคธุรกิจอยู่บ้างจากข่าวดีในเรื่องของวัคซีนที่ส่งผลต่ออารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภค ขณะที่การประชาชนบางส่วนก็สามารถปรับตัวได้ในเรื่องพฤติกรรมการบริโภคแบบ New Normal แล้ว
ขณะที่นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า แผนงานในไตรมาส 4 นับจากนี้จะมีการบริหารจัดการงบการตลาดแบบใหม่ เพื่อสร้างความคุ้มค่า คุ้มเงินในการลงทุนในสภาวะปัจจุบัน โดยจะหันไปโฟกัสเรื่องของดีลิเวอรี, คลาวน์ คิทเช่น และการทำตลาดในรูปแบบออมนิแชนนอล (Omni Channel) อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งเมนูที่หลากหลายผ่านแอพลิเคชั่น การกระตุ้นให้เกิดการซื้อกิ๊ฟท์วอชเชอร์ จับมือกับพาร์ทเนอร์ฟู้ดแอพพลิเคชั่น เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่สนใจเทคโนโลยี
พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมเปิดตัวโปรโมชั่นที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่นผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมายในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยปีที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนธุรกิจเดลิเวอรีอยู่ที่ 3% และคาดการณ์ว่าในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 10% หรือราว 220-250 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากแนวโน้มธุรกิจดีลิเวอรีที่เติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมความสะดวกสบายและหันมาสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
ในส่วนของภัตตาคารซึ่งปีนี้ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยโดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป โดยนายบัญชา พจชมานะวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ภัตตาคารแกรนด์เชียงการีลา จำกัด ย้ำว่า ภัตตาคารมียอดขายในช่วงปี 2562-2563 ลดลง 15-20% เฉพาะช่วงมิถุนายนถึงตุลาคม ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายขนมไหว้พระจันทร์ปีนี้ที่ลดลง 20-25% เช่นเดียวกัน ซึ่งโควิด-19 คือปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และทำให้ธุรกิจร้านอาหารตอนนี้มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การจัดส่งอาหาร (ดีลิเวอรี) หรือแม้แต่การลดจำนวนลูกค้าตามกฎระเบียบของทางภาครัฐ ซึ่งทำให้บางที่ลดจำนวนพนักงาน หรือบางธุรกิจต้องปิดตัวลง จากประชาชนที่ลดการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงรับรองที่ลดลง หรือประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ
“เชียงการีลาเอง มีการปรับแผนด้วยการมองหาโมเดลธุรกิจของเชียงการีลาขนาดเล็ก โดยที่ผ่านมาได้มีการเปิดโมเดลไซซ์เล็กที่ในปั้มน้ำมันพีที 2 สาขา ได้แก่ สาขาแยกศรีอุดม ที่และ สาขาประชาอุทิศ โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้มีการเปิดร้านที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน kingpower รางน้ำ และศูนย์การค้าเอ็มบีเค ถือเป็นการบุกเบิกตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อเป็นการขยายตัวในอนาคต โดยรูปแบบร้านจะเป็นการจำหน่ายขายอาหาร ในช่วงอาหาร70-180บาท ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายจะเติบโตขึ้น 5-10% ในปี2564”
แม้หลายคนจะบอกว่าธุรกิจร้านอาหารจะยังคงเติบโตเพราะทุกคนต้องกิน ต้องใช้ แต่ในอีกด้านหากธุรกิจไม่มีการปรับตัว ก็ยากที่จะฟื้นตัวหรือทำกำไรเช่นกัน
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,630 วันที่ 26 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563