การเปิดตัว “คาราบาวแดง” ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในเมืองไทยเมื่อ 15 ปีก่อนทำให้ชื่อของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมๆ กับการเป็นฟันเฟืองสำคัญในการนำพาเพื่อนๆ อย่างแอ๊ด คาราบาว และคนอื่นๆ เข้าสู่เส้นทางการลงทุนในหลายๆ ธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีกกับการเข้าซื้อกิจการ “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” จนปัจจุบันแตกหน่อออกผลเป็น “ซีเจ มอร์” คอมมูนิตี้ มอลล์ และ “ถูกดี มีมาตรฐาน” โลว์คอส คอนวีเนียนสโตร์ รวมถึงแบรนด์ร้าน “บาว คาเฟ่” (Bao Cafe) ร้านกาแฟ , “นายน์ บิวตี้” (Nine Beauty) ร้านเครื่องสำอาง, “อูโนะ” (UNO) ร้านแฟชั่น เครื่องเขียน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไลฟ์สไตล์, “เอ-โฮม” (A-Home) ร้านอุปกรณ์ช่าง ทำสวน ดูแลรถ ของใช้ในครัว และเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก
ล่าสุด “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. คาราบาว กรุ๊ป และประธานกรรมการ บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ประกาศเดินหน้าปูพรมรุกธุรกิจเต็มตัวในปี 2564 โดยเฉพาะตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ หลังจากที่ซุ่มชิมลางทำตลาดเหล้าขาวมา 1-2 ปี ทำให้ “สปอตไลท์” ต้องกลับมาจับจ้องที่บุรุษคนนี้อีกครั้ง
เปิดพอร์ตน้ำเมา
“ทำไมประเทศไทยมีคนทำเหล้าได้แค่คนเดียว ทำไมคนไทยจะต้องกินเหล้าเดิมๆ วันนี้มีเทคโนโลยีมากๆ ในการนำมาใช้เพื่อผลิตเหล้าดีๆ”
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดพอร์ตธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ “เสถียร” ซึ่งถือใบอนุญาตผลิตเหล้ามานานกว่า 10 ปีตัดสินใจรุกปั้นแบรนด์เหล้าขาว “ตะวันแดง” ตัวแรกออกทำตลาด ตามด้วยตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “สุราข้าวหอม” วอดก้าไทยมียอดขาย 3-4 แสนลังต่อเดือน , “กาแล็กซี่” บรั่นดีไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต สู่ร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” โลว์คอส คอนวีเนียนสโตร์สายพันธุ์ไทย
เปิดแผน ‘ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต’ จากภูธร สู่เมืองกรุง
คาราบาวกรุ๊ป สาดงบปั้น ‘วู้ดดี้ ซี+ล็อค’ ยึดตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์
“ปัจจุบันเรามีกำไร 200-300 ล้านบาท ทำให้สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นในปีหน้า เราจะลงมือทำเหล้าเยอะขึ้น จะลงแข่งขันในตลาด โดยจะเปิดตัวแบรนด์วิสกี้ ตัวแรกในเมืองไทย และเหล้าใหม่อีก 2-3 ตัว ในระดับพรีเมี่ยม พร้อมสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก”
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ “เสถียร” มีความเชื่อมั่นและเดินหน้าต่อในตลาดน้ำเมาแสนล้าน เพราะทันทีที่รุกตลาดบรั่นดี ด้วยแบรนด์ “กาแล็กซี่” พบว่าจนถึงปัจจุบันสินค้าขาดตลาด ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาบ่มนาน 2 ปี ทำให้ตอนนี้เขาตัดสินใจลงทุนเครื่องจักรใหม่มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตภายในโรงงานที่จ.ชัยนาท บนที่ดินราว 1,000 ไร่
“โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อ 30-40 ปีก่อนการผลิตเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเรายังไม่พัฒนา ไม่มีโนฮาว แต่วันนี้มีเทคโนโลยี ที่สามารถวิเคราะห์สูตร ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องปกติ”
บทเรียนจากค้าปลีก
“เสถียร” บอกว่า วันนี้บิสิเนสโมเดลเปลี่ยน ต้องคิดใหม่ เป็นไปไม่ได้ที่จะมองโลกสวยงาม แต่ทำแล้วต้อง Win-Win แบล็คกราวน์จากซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ตหลังเข้าเทคโอเวอร์ ทำให้ “เสถียร” ได้เรียนรู้แนวทางของธุรกิจค้าปลีก การสร้างเครือข่าย การต่อยอดธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างอาณาจักรค้าปลีกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในระดับประเทศจะมีแบรนด์ “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” เป็นตัวหอก มีสาขารวม 1,500 สาขาและมียอดขายราว 3 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2565
ส่วน “ซีเจ มอร์” จะเป็นหัวหอกบุกกรุงเทพฯ เน้นรวมร้านค้าในเครือเพื่อตอบโจทย์คนกรุงที่ต้องการความหลากหลาย และสร้างความแตกต่างเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดค้าปลีกที่ดุเดือดได้ ซึ่งแม้ว่าจะเปิดตัวในปีนี้ แต่ปีหน้าจะมีสาขามากถึง 50 แห่ง ตามย่านชุมชน
รวมถึงแบรนด์ที่ซุ่มพัฒนามาปีเศษอย่าง “ถูกดี มีมาตรฐาน” โลว์คอส คอนวีเนียนสโตร์ ที่จะเน้นเปิดในระดับตำบล กับการลงพื้นที่ช่วยลงทุนตกแต่งร้าน ให้สะอาด สรรหาสินค้าดี มาช่วยทำให้ร้านโชห่วยขายดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นพื้นที่ดิสเพลย์ให้กับสินค้าในเครือ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 200 สาขา และจะเพิ่มเป็น 3 หมื่นสาขาในอีก 5-6 ปีข้างหน้า
จีน คืออนาคต
ขณะที่ “คาราบาวแดง” โปรดักต์ฮีโร่ “เสถียร” บอกว่า วันนี้คาราบาวแดงมีความแข็งแกร่งมาก เป็นเบอร์ 1 ในตลาดอาเซียน ไม่มีใครชนะเราได้ แต่สำหรับเมืองไทยเรายอมรับว่ายังเป็นที่ 2 รองจาก M150 แต่เป้าหมายของเราคือ จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเมืองไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ขณะที่ตลาดในยุโรป เราคงไม่ไปแข่งขันกับเรดบลู ซึ่งเขามีความแข็งแรงอยู่แล้ว อีกตลาดที่เรายังเชื่อมั่นและมองเห็นถึงศักยภาพคือตลาดจีน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ซึ่งการทำตลาดมาร่วม 4 ปีทำให้เราเรียนรู้ว่า จีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกันจีน เป็นตลาดที่เอาอยู่ยาก โกงได้โกง เอาเปรียบได้เอา ทำให้ต้องปรับเปลี่ยน และวางแผนใหม่ตลอดเวลา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยอมรับว่าขาดทุนไปแล้ว 200-300 ล้านบาท
“แม้จะขาดทุนแต่ก็มองเห็นโอกาส เพราะหากสามารถขายคาราบาวแดงได้เกิน 300 ล้านกระป๋องต่อปี ก็มีโอกาสโตและทำกำไรได้ พร้อมกับขยายตลาดให้ได้ 1,000 ล้านกระป๋องในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทมีแผนจะใช้งบลงทุนอีกกว่า 200 ล้านบาท ในการขยายไลน์ผลิตในต้นปีหน้าด้วย”
หากถาม “เสถียร” ว่า เขาให้น้ำหนักกับธุรกิจไหนมากที่สุด เขาก็จะตอบทันทีว่า เหล้า ค้าปลีก และจีน ซึ่งหากขายสินค้าที่จีนได้ นั่นคืออนาคตทั้งหมดของคาราบาว กรุ๊ป
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,632 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563