เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 5 ธันวาคม
“ฐานยานยนต์” นำเสนอบทความเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และการพัฒนาโครงการพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้
วันที่ 5 พ.ค. 2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คำมั่นสัญญาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงยึดถือเป็นแนวปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวง เพื่อความสุขอันแท้จริงของอาณาประชาราษฎร์
บนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน สายบ้านห้วยมงคล จากพระตำหนักวังไกลกังวล คือ จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลพระราชหฤทัยของ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกได้เกิดขึ้นที่นี่
การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านห้วยมงคล จ.ประจวบคีรีขันธ์ คราวนั้น ระหว่างการเดินทางได้เกิดเหตุการณ์ขบวนรถยนต์พระที่นั่งตกหล่ม ซึ่งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ทหาร ต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยให้ขบวนรถยนต์พ้นจากหล่มที่ติดอยู่
Jeep Delehaye 1963 เสด็จพระราชดำเนินไปบ้านห้วยมงคล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเยี่ยมราษฎร อันเป็จุดกำเนิดและเป็นแรงบันดาลใจในการริเริ่มโครงการในพระราชดำริต่างๆต่อมาถึง 4,000 โครงการ
ภาพที่ได้เห็นกันในวันนั้น คือ รถ Jeep Delehaye 1963 ที่อยู่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านห้วยมงคลนั้น เกิดตกหล่ม และได้มีชาวบ้านออกมาช่วยกันเข็น ช่วยกันลาก เมื่อรถพระที่นั่งสามารถพ้นหล่มโคลนแล้ว ทำให้ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ได้มีโอกาสได้ทรงตรัสสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านห้วยมงคล ซึ่งห่างจากตัวเมืองหัวหินเพียง 20 กิโลเมตร เท่านั้น แต่วิถีชีวิตยังลำบากยากเข็ญหลายอย่าง
ถนนที่จะได้เดินทางนำสินค้าทางการเกษตรไปขายที่ตลาดหัวหินไม่สะดวก เป็นดินโคลน ไม่ได้ลาดยาง การคมนาคมสัญจรลำบาก โดยเฉพาะหน้าฝน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีเจ้าหน้าที่มาทำถนน ช่วยเดินทางมายังหัวหินได้เร็วขึ้น สามารถนำสินค้าไปขายได้ มีชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น
นอกจากนั้น ได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริหลายด้าน และ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ได้เสด็จฯ กลับมาที่บ้านห้วยมงคลอีกหลายครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าของแนวพระราชดำริต่าง ๆ เหล่านั้น ที่บ้านห้วยมงคล
จากจุดเริ่มต้นที่ ‘บ้านห้วยมงคล’ นี้ ทำให้ก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามมาในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งโครงการทั้งหมดนั้น ได้ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และทุกแห่งหนที่ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ได้เสด็จพระราชดำเนินไป จะได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การตัดถนน-สร้างความเจริญ’ ที่ทำให้ประชาชนนำยานพาหนะเพื่อสัญจรไปมา และยังทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์มากมาย ทำให้มีการค้าขาย มีรายได้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมั่นคง
ถือได้ว่า ‘บ้านห้วยมงคล’ คือ ต้นแบบของโครงการพระราชดำริในการพัฒนาวิถีชีวิต บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พสกนิกรของพระองค์โดยแท้
Jeep Grand Wagoneer ปี 2535 รถยนต์พระที่นั่งที่ในหลวงได้ทรงขับลุยน้ำด้วยพระองค์เอง เสด็พระราชดำเนินไปยัง ลำพะยัง บ้านกุดตอแก่น อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 เพื่อทรงวางแผนสร้างอ่างเก็บน้ำ
นายบุญพีร์ พันธ์วร ที่ปรึกษาพิเศษ กลุ่มบริษัทสยามกลการ ได้บอกเล่าว่า ถนนทุกสายที่เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริของ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ได้นำพาความเจริญไปสู่ทุกตารางนิ้วอย่างวิเศษสุด
ในอดีต “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่ที่ทุรกันดาร หรือแม้แต่ในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในสมรภูมิภาคเหนือรอยต่อภาคอีสาน จากพื้นที่ที่ไม่เคยมีถนนพาดผ่าน หรือบางพื้นที่ไม่เคยมีถนนลาดยาง พระองค์ท่านก็ทรงรับสั่งให้สร้างถนนขึ้นหลายสาย เพื่อเป็นถนนด้านความมั่นคง เพื่อพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารให้เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายทุกภูมิภาค
แม้แต่ในที่ที่เจริญ อย่าง ‘กรุงเทพมหานคร’ ที่ประสบกับการจราจรที่ติดขัด พระองค์ท่านก็ทรงมีพระราชดำริ เช่น โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี, สะพานวงแหวนต่าง ๆ รอบเมืองหลวง เช่น ถนนรัชดาภิเษก ถนนกาญจนาภิเษก เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมใหญ่ที่กำลังเจริญเติบโตขึ้น หรือมีพระราชดำริสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยในเรื่องการคมนาคมขนส่ง และแก้ไข ป้องกัน ปัญหาการจราจรติดขัดในระยะยาว รวมไปถึงตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ซึ่งทุกโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ล้วนมาจากความเป็นห่วงเรื่องการเดินทางของประชาชน
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานในวาระต่าง ๆ ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ การคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น ถนนหนทาง ทั้งการแก้ปัญหาการจราจร การป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง นับตั้งแต่ต้นรัชกาลจนมาถึง 70 ปี ตั้งแต่เมืองไทยยังเป็นแผ่นดินดอย เป็นป่ารก ทุรกันดารอย่างแสนสาหัส ไม่มีถนนลาดยางอันทันสมัย อย่างเช่น ในปัจจุบัน
ตลอดรัชสมัยของ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” คือ พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว พระองค์ได้พระราชทานของขวัญอันล้ำค่าต่ออุตสาหกรรมไทยในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่ความอยู่ดีกินดี แต่มีความทันสมัยแบบเพียงพอและพอเพียง
บนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินหลายแสนกิโลเมตร มีคนเคยคำนวนเล่น ๆ ตามข้อมูลที่เป็นจริงว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่อาณาประชาราษฎร์ในประเทศตามท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ นั้น รวมระยะตลอดรัชสมัยมากกว่า 400,000 กิโลเมตร หากระยะทางระหว่างดวงจันทร์วัดจากแกนโลกเป็นระยะทาง 363,000 กิโลเมตร ตัวเลขการเสด็จพระราชดำเนินที่ผลออกมาไกลกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์
ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกนี้ที่จะมุ่งมั่นเพียรพยายาม เพื่อความสุขของพสกนิกรที่ทรงเปล่งพระบรมราชโองการว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ตลอดรัชสมัยเป็นเวลา 70 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงครองหัวใจคนไทยทั้งมวลในเวลาเดียวกันด้วย ตอกย้ำคำพูดของราษฎรคนหนึ่งที่เข้าเฝ้าฯ ส่งเสด็จฯ คราวนั้น เมื่อต้นรัชกาลบนถนนราชดำเนินตะโกนเปล่งวาจาให้ “พระองค์อย่าทอดทิ้งประชาชน” ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำตามคำมั่นสัญญา โดยสมบูรณ์ทุกประการ
เรื่อง-ภาพ : บุญพีร์ พันธ์วร
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,308 วันที่ 26-28 ต.ค. 2560