สมาคมแอลกอฮอล์ฯ ยื่น 5 ข้อ ทบทวนห้ามขายนํ้าเมาออนไลน์

19 ธ.ค. 2563 | 02:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2563 | 09:18 น.

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สะท้อนมุมมอง “ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์” ชง 5 ข้อเรียกร้อง ทบทวน ปรับปรุง เผยเหตุทำไมต้องเดินหน้าร้องศาลปกครอง หลังมีผลบังคับใช้ 7 ธ.ค.

แม้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท จะมีช่องทางขายหลักคือ ร้านค้าทั่วไป ตลอดจนร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องทางออนไลน์ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทและมีการเติบโตอย่างมีนัยะสำคัญต่อธุรกิจ ขณะที่ในอีกมุมมองของภาครัฐการขายผ่านออนไลน์ ทำให้ยากต่อการควบคุมเรื่องวัน เวลา สถานที่และบุคคล จึงต้องออกมาตรการควบคุม ซึ่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

แน่นอนว่าในมุมของธุรกิจย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แต่ในมุมของกฎหมาย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายธนากร คุปตจิตต์” เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่กำกับดูแลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในไทยและระดับโลก ที่มาแลกเปลี่ยนมุมมองด้านกฎหมาย หลังประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์มีผลบังคับใช้

 

“ธนากร” สะท้อนให้ฟังว่า อยากให้มองในหลายๆมุม ว่าข้อกฎหมายใดที่ควรเป็นข้อห้าม และกฎหมายใดที่ควรใช้กำกับดูแล โดยสมาคมฯนำเสนอ 5 ข้อเรียกร้องคือ 1. ประกาศฉบับนี้ อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และเมื่อพิจารณาในหมายเหตุ ซึ่งเป็นเหตุผลที่อยู่ในท้ายของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่า “...ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

สมาคมแอลกอฮอล์ฯ ยื่น 5 ข้อ ทบทวนห้ามขายนํ้าเมาออนไลน์

“จะเห็นได้ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ คือ ต้องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่กำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องคำนึงผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น ประกาศฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกหรือระดับอนุบัญญัติ ก็ต้องประกาศบังคับใช้ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายหลัก คือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตลาดนํ้าเมา 3.7แสนล้านวูบ

ร้องไม่เป็นธรรม ห้ามขายเหล้า-เบียร์ ผ่านออนไลน์

ยื่นฟ้องศาล เบรกห้ามขาย นํ้าเมาออนไลน์

2. ประกาศฉบับนี้ ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ที่ได้ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่ต้องการลดปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายลง 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2025 หรือ พ.ศ. 2568

 

3. ในมุมมองด้านด้านเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐส่งเสริมโดยกำหนดเป็นนโยบายและเป็นมาตรการของรัฐ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ภายใต้ Government Digital และด้านอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อสอดคล้องกับการเจริญเติบโตด้านเทคโนโลยีของโลก และมาตรการการเว้นระยะห่าง (Social distancing) ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน 2560 มาตรา 77 วรรคแรก ก็ได้บัญญัติไว้ว่า

สมาคมแอลกอฮอล์ฯ ยื่น 5 ข้อ ทบทวนห้ามขายนํ้าเมาออนไลน์

“รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง” แต่การออกประกาศฉบับนี้ ไม่ตอบข้อบัญญัติแต่อย่างใด

 

4. การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ นอกจากจะช่วยลดการเดินทางในการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 แล้ว ยังช่วยลดปัญหาการจราจรบนท้องถนนที่อาจเกิดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน และเมาแล้วขับอีกด้วย และ 5. ข้อเท็จจริง ผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ที่สร้างปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจมาโดยตลอดก็คือ พวกขายสินค้าผิดกฎหมาย ที่รัฐควรเข้าไปเข้มงวด

 

“ประกาศฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับมาตรการของรัฐ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักและเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก รวมถึงยังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม”

 

“ธนากร” กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะเห็นว่าการออกประกาศฉบับนี้ ได้จัดทำโพลล์สำรวจความเห็นไว้ก่อนแล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประกาศฉบับนี้ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เพราะสภาพการณ์ในปัจจุบันกลับต้องมีการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง

 

“การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่สุจริตและเปิดเผย เป็นการทำร้ายการทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นกลุ่มเริ่มต้นหรือสตาร์ตอัพและรายเล็กที่ไม่มีช่องทางการขายอื่นนอกจากขายในสถานประกอบการหรือร้านค้าของตนเองเท่านั้น มาตรการที่มาใช้ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง และผลกระทบที่ตามมาในระยะยาวคือ การผลักให้ธุรกิจเหล่านี้ลงใต้ดิน แล้วควบคุมไม่ได้ต่อไป กับทั้งยิ่งเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคม”

 

“ธนากร” กล่าวว่า สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนแก้ไขปรับปรุงประกาศฉบับนี้ และเนื่องจากประกาศฉบับนี้เป็นกฎหมายลูกคือระดับอนุบัญญัติ รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทบทวนเพื่อทำการเปลี่ยน แปลงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามที่อ้างเพื่อการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตามอำนาจที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยนำกลับไปทำการแก้ไขปรับปรุงเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2552

สมาคมแอลกอฮอล์ฯ ยื่น 5 ข้อ ทบทวนห้ามขายนํ้าเมาออนไลน์

ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น แม้หลายฝ่ายจะหันหน้าพูดคุยกันแต่ก็ยังไม่มีทางออก จนที่สุดแล้วผู้เกี่ยวข้องรวมถึงสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ต้องขออาศัยอำนาจศาลปกครองช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิ โดยมุ่งหวังสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,636 วันที่ 17 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563