จากมีผู้ติดเชื้อโควิดที่จังหวัดสมุทรสาคร นำมาซึ่งการสั่งปิดตลาดทะเลไทย หรือตลาดมหาชัย ตลาดค้าอาหารทะเลใหญ่สุดของประเทศตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 ลามกระทบเศรษฐกิจของสมุทรสาครเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน สถานการณ์ล่าสุดการแพร่ระบาดได้ขยายวงไปในหลายจังหวัดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความหวั่นวิตกแก่ทุกฝ่าย ขณะที่ภาคการผลิตและส่งออกในพื้นที่สมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของอุตสาหกรรมอาหารของไทยหวั่นจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากสถานการณ์เอาไม่อยู่
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และนายกสมาคมการประมงนอกน่านนํ้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ข้อมูลในปี 2561 จังหวัดสมุทรสาครมีผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด(GPP) มูลค่า 406,245 ล้านบาท มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 8 ของประเทศที่ 389,818 บาทต่อคนต่อปี โดยสัดส่วน GPP 72% มาจากสาขาอุตสาหกรรมที่มีโรงงานพื้นที่ 6,082 โรง (ณ 20 ธ.ค.63) ในจำนวนนี้อยู่ในหมวดอาหารมากสุด 731 โรงงาน ทั้งนี้ผลกระทบจากโควิดที่เกิดขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน
โดยประเมินผลกระทบจากการปิดตลาดทะเลไทยที่มีการซื้อขายวันละกว่า 100 ล้านบาท กระทบซัพพลายอาหารทะเลที่มาจาก 22 จังหวัดชายทะเล ที่เรือไม่สามารถมาขึ้นสินค้าได้ รวมถึงผลผลิตกุ้งและอาหารทะเลอื่นๆ ของเกษตรกรที่ส่งเข้ามาจำหน่ายต่างได้รับผลกระทบไม่มีที่ระบาย ขณะที่ไม่มีใครอยากมาที่สมุทรสาคร กระทบภาคบริการ ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และอื่น ๆ
อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์
“รายได้หลักของสมุทรสาครมาจากภาคอุตสาหกรรมใน 8 สาขา เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ ยา สมุนไพร เครืองมือแพทย์ บรรจุภัณฑ์ พลาสติก ขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมกุ้ง ทูน่า และอาหารสัตว์เลี้ยง สมุทรสาครเป็นแหล่งผลิตใหญ่สุดของประเทศเฉพาะ 3 อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าส่งออกรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เวลานี้แม้ไม่มีประกาศให้ปิดโรงงาน แต่ถือมีความน่าเป็นห่วง”
ทั้งนี้หากแรงงานในพื้นที่กว่า 3.4 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 2.3 แสนคน (90% เป็นชาวเมียนมา)มีการติดเชื้อมากขึ้น และถูกกักตัวมาทำงานไม่ได้ เมื่อโรงงานไม่มีคนทำงานอาจต้องหยุดผลิตหรือลดกำลังผลิต กรณีเลวร้ายสุดอาจทำให้เป้าหมายการส่งออกอาหารของไทยในปีนี้ที่ตั้งไว้ 1.02 ล้านล้านบาทอาจไม่ได้ตามเป้า
ชนินทร์ ชลิศราพงศ์
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า โรงงานทูน่าในพื้นที่สมุทรสาครมีประมาณ 15 โรง คิดเป็น 70-80% ของโรงงานทั้งประเทศที่มี 20 โรง มีคนงานในอุตสาหกรรมในพื้นที่สมุทรสาครประมาณ 4 หมื่นคน สัดส่วน 90% เป็นแรงงานถูกกฎหมายจากเมียนมา ทั้งนี้ในส่วนของการผลิตและการส่งมอบสินค้าไม่ห่วงเรื่องการปนเปื้อนโควิด เพราะในการผลิตทูน่ากระป๋องจะผ่านความร้อนและการฆ่าเชื้อ 118 องศาเป็นเวลานานกว่า 90 นาทีเชื้อโรคตายหมด และเวลาส่งมอบสินค้าจะมีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในและภายนอกตู้คอนเทนเนอร์ ในปีนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าลุ้นขยายตัวที่ 15% มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท
“เพื่อความไม่ประมาท นอกจากแต่ละโรงงานจะมีมาตรการให้พนักงานวัดอุณภูมิ ใส่หน้ากาก ใส่ถุงมือ และให้ล้างมือบ่อยๆ แล้ว จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นโดยให้ลงทุนตรวจร่างกายพนักงาน 100%ให้ครบทุกโรงงานไม่ต้องรอทางราชการ รวมถึงการจัดบิ๊กคลีนนิ่งโรงงานในวันเสาร์และอาทิตย์ แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัยจะคัดแยกผู้ป่วย และปิดแผนกที่พบผู้ป่วยทันทีอย่างน้อย 48 ชั่วโมงเพื่อทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 2 ฉบับที่ 3638 วันที่ 24-26 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 25 ธ.ค. 63 แบบอัพเดทล่าสุด
เอกชนห่วง "โควิด-19" ยืดเยื้อทุบเศรษฐกิจพังกว่าหมื่นล้านบาท
ปิด "เอสเอ็มอีแบงก์" สาขา "สมุทรสาคร" ชั่วคราวป้องกันโควิด-19
รวมคำถาม-คำตอบ จากกรณี"โควิดสมุทรสาคร"