ผู้นำธุรกิจฟันธงอุดรธานีฟื้นจากพิษโควิดแล้ว 70% ปี 2564 พื้นที่พร้อมรับทัพนักลงทุนปักธง เพื่อพลิกเศรษฐกิจพุ่งทะยาน จากความคืบหน้าโครงการใหญ่ นิคมฯกรีนพร้อมเปิดหน้าดินเข้าพัฒนาโครงการ เดินหน้าทางคู่-ไฮสปีดจากโคราชไปเชื่อมเวียงจันทน์ทะลุจีนตอนใต้
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็งจุ่งฮวด (กรุ๊ป) จำกัด ผู้แทนจำหน่ายและบริการเทเลวิซใน 6 จังหวัดอีสานเหนือ มองสถานการณ์ประเทศรอบบ้านยังไม่น่าไว้ใจเรื่องเชื้อโควิด-19 ส่วนภายในประเทศ พื้นที่ภาคอีสาน ร่วมมือกันรักษาให้ปลอดภัยไว้ได้ดี จะมีติดเชื้อบ้างก็เพียงส่วนน้อย ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นคืนมาได้เกือบ 50% โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจการค้าการบริการ และการท่องเที่ยว ภายใต้แนวปฎิบัติชีวิตวิถีใหม่ (New Mormal)
“ในส่วนของจังหวัดอุดรธานี สถานการณ์ของทุกภาคธุรกิจคืนสภาพกลับมาแล้วประมาณ 60-70 % จากปัจจัยความช่วยเหลือภาครัฐ ควบคู่กับภายในจังหวัดได้เสริมการขับเคลื่อน จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี อาทิเช่น ภาคการท่องเที่ยว ยอดคนเดินทางผ่านท่าอากาศยานอุดรฯ 3 เดือนหลัง เฉลี่ยเดือนละ 100,000 คน เที่ยวบินกลับมาแล้ว 80% และเปิดบินตรงข้ามภาค หนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวกลับมา”
ประธานหอฯอุดรธานี กล่าวอีกว่า ด้านการลงทุนทางจังหวัดเตรียมความพร้อมเปิดเมืองต้อนรับ โดยเริ่มมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลงพื้นที่มาขอข้อมูล สำรวจตลาด ขอข้อมูลพื้นฐาน ตลอดจนพบปะนักลงทุนพื้นที่ สอดคล้องกับความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หรือนิคมฯกรีน ของบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ที่ลงมือก่อสร้างสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริการภายในโครงการแล้ว ด้านการตลาดก็กลับมาดำเนินการติดต่อประสานกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายต่างๆ อีกครั้ง มีนักลงทุนหรือตัวแทนนักลงทุนต่างประเทศเข้าเยี่ยมพื้นที่โครงการแล้ว
การลงทุนด้านอื่นๆ ได้มีนักลงทุนติดต่อขอข้อมูลจากหอการค้าเป็นระยะ หรือล่าสุดผู้บริหารบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด(มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อีกรายของประเทศ ก็เข้ามาสำรวจพื้นที่ หาข้อมูลเพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ อาทิ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ ต่อเนื่องจากที่ลงทุนด้านที่พักและอาคารสำนักงานในพื้นที่อยู่แล้ว เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีได้รับการประเมินจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)หรือทีเส็บ ให้เป็นเมืองไมซ์ซิตี้แล้ว
ปัจจัยบวกอีกประการคือ เมกะโปรเจ็กรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทย ที่จะผ่านเข้ามาในภาคอีสาน มีความคืบหน้าแล้วอย่างสำคัญ โดยในส่วนของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวมีความก้าวหน้าอย่างมาก คาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถอย่างไม่เป็นทางการในต้นเดือนธันวาคม 2564 นี้แล้ว
ในส่วนของประเทศไทยโครงการช่วงแรกจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็มีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง โดยมีการเปิดประมูลการก่อสร้างแล้ว ส่วนช่วงที่ 2 จากนครราชสีมา ผ่านขอนแก่น อุดรธานี ถึงหนองคายนั้น ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียตามแนวสายทางเป็นครั้งที่ 2 หลังไปปรับแก้รายละเอียดโครงการจากการประชุมครั้งแรก เพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ภายหลังศึกษาโครงการนี้แล้วเสร็จ รฟท.จะเริ่มดำเนินการขออนุมัติดำเนินโครงการ และออกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในปี 2564 จากนั้นจะดำเนินการประกวดราคา สำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์และเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ในปี 2565 โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน งานติดตั้งระบบจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 เป็นเวลา 66 เดือน คาดจะเปิดให้บริการได้ประมาณ 2572
นอกจากนี้ยังมีโครงการถไฟรางคู่จาก นครราชสีมา-หนองคาย ก็มีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยช่วงแรกของโครงการ นครราชสีมา-ขอนแก่น มีความก้าวหน้าไปเกือบจะเสร็จตามโครงการแล้ว ส่วนช่วงที่ 2 ขอนแก่น-หนองคาย ก็ทราบว่าจะมีการลงนามในสัญญาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งความชัดเจนของโครงข่ายคมนาคมขนส่งดังกล่าว ทำให้ภาคเอกชนพร้อมตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
นายสวาทชี้ว่า ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของภาคเศรษฐกิจธุรกิจในทุกภาคส่วน ทั้งภายนอกและภายใน จะมีการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการดำเนินการ เช่น อี-คอมเมิร์ซ์ การค้าขายทางสื่อโซเซียล ทางออนไลน์ จะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการโลจิสติกส์ เกิดเป็นเศรษฐกิจแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
ดังนั้น เมื่อเป็นเศรษฐกิจใหม่ วิถีการดำเนินธุรกิจก็จะมีสิ่งใหม่ๆ หากนักธุรกิจทั้งเก่าและใหม่ ยังย่ำอยู่กับการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ ได้แต่บอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่หากปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ ก็จะเห็นว่ามีความเติบโต เช่น จะต้องแบ่งซอยธุรกิจออกเป็นส่วนๆ มีขนาดเล็กลง เพื่อให้ง่ายและสะดวกในการบริหารจัดการ ส่วนไหนเกิดปัญหาก็แก้เป็นส่วนๆ ไป ไม่ทำให้ธุรกิจทั้งหมดประสบปัญหา
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,641 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564