การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้รัฐบาลจะไม่มีนโยบายล็อกดาวน์อย่างในปีที่ผ่านมา แต่ด้วยการออกมาตรการป้องกันที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 28 จังหวัด ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงการชะงักงันด้านการเดินทางท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
ประกอบกับมาตรการที่แม้จะไม่ได้ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด แต่การขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรืองดการเดินทางข้ามจังหวัด และจะมีด่านตรวจบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ, กาญจนบุรี, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชุมพร, ชลบุรี, ตราด, ตาก, นครนายก, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ราชบุรี, ระนอง, ระยอง, ลพบุรี, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สระแก้ว, สระบุรีและอ่างทอง
ขณะเดียวกันในบางจังหวัดก็เริ่มออกมาตรการให้ผู้โดยสารที่ทำการบินจากกรุงเทพฯและจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ผู้โดยสารทุกคนถ้าทำการเข้าไปยังสนามบินนั้นๆจะต้องถูกกักตัว 14 วัน ได้แก่ สนามบินชุมพร (ถ้าเดินทางตํ่ากว่า 14 วัน ต้องติดต่ออสม. รายงานตัว) , สนามบินบุรีรัมย์ (ถ้าไม่กักตัว 14 วัน ต้องตรวจโควิดแบบ Rapid test เสียค่าใช้จ่าย 600 บาท ถ้าตรวจไม่พบเชื้อไม่ต้องกักตัว)
ขณะที่สนามบินอุบลราชธานี มีการกำหนดให้ผู้โดยสารในพื้นที่สีแดง และบางเขตในกรุงเทพ (เขตบางขุนเทียน-บางพลัด-หนองแขม จ.นนทบุรี (เฉพาะอ.บางบัวทอง-บางใหญ่) นครปฐม (เฉพาะอ.กำแพงแสน-บางเลน-นครชัยศรี) ถ้าบินเข้าไปต้องกักตัวเช่นกัน
ประกอบกับปัจจุบันมีหลายแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในอีกหลายจังหวัด รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 66 แห่งประกาศปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ เกาะล้าน พัทยา น้ำตกเก้าชั้น อ.สวนผึ้ง ราชบุรี จุดชมวิวทะเลหมอก ผาเหนือเมฆ จ.ตรัง ชุมชนท่องเที่ยวบ้านจ่าโบ่ จ.แม่ฮ่องสอน
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการโรงแรมไทย เปิดเผยกับ 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ และมาตรการต่างๆ เพื่อคุมการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น แม้รัฐบาลจะไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่เอื้อให้เกิดบรรยากาศในการเดินทางท่องเที่ยวตลอดช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งจะส่งต่อการชลอตัวของการเดินทางเที่ยวในประเทศต้องหยุดชะงัก จากการยกเลิกการจองที่เกิดขึ้น
ทั้งยังส่งกระทบต่อธุรกิจโรงแรมไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นช่องทางเดียวที่โรงแรมจะมีรายได้เข้ามา เพราะการเปิดให้ต่างชาติมาเที่ยวไทย แทบจะเป็นไปไม่ได้แน่นอนตลอด ไตรมาส 1 ปีนี้ หากเป็นเช่นนี้ก็คาดว่าจะมีหลายโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการแล้ว จะต้องทยอยกลับไปปิดใหม่อีกครั้ง
ส่วนการใช้สิทธิ์จองห้องพักในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่จะหมดระยะเวลาการใช้สิทธิ์ในสิ้นเดือนเมษายนนี้ แต่ด้วยปัจจัยของโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้คนไม่อยากเดินทางไปเที่ยว และบางพื้นที่ไม่สามารถเดินทางเข้าพักได้ ก็ทำให้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะมีการปรับปรุงระบบให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลา โครงการออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ การกำหนดระบบการเลื่อนวันเข้าพักสำหรับประชาชนที่ได้จองโรงแรมที่พัก เพื่อเข้าพักตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
ในขณะนี้ทางสมาคมโรงแรมไทย ได้แจ้งสมาชิกให้รับทราบถึงกรณีที่กระทรวงการคลังแจ้งขอความร่วมมือให้โรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการฯทุกแห่งพิจารณาเลื่อนวันเข้าพักให้กับประชาชนที่ใช้สิทธิ์ตามโครงการฯโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือพิจารณาคืนเงินให้แก่ลูกค้า โดยการเปลี่ยนแปลงการจองดังกล่าว จะไม่ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขของโครงการฯและคงจำนวนสิทธิให้กับประชาชนที่ใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งทางธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการปรับปรุงระบบให้สอดรับกับการดำเนินการดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตามสำหรับการเสนอครม.เพื่อขอขยายเวลาของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะพร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ภายในสัปดาห์หน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“เราเที่ยวด้วยกัน”เลื่อนวันเข้าพักได้ ไม่ถูกตัดสิทธิ์
"เราเที่ยวด้วยกัน” ชงขยายเวลาถึง 31 ต.ค. 64 พิษโควิดระลอกใหม่
ระงับสิทธิ์โรงแรมหัวหิน ส่อทุจริต “เราเที่ยวด้วยกัน”
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564