การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ กำลังส่งผลเป็นวงกว้าง ล่าสุดกระจายไปกว่า 60 จังหวัด ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 10,000 กว่ารายไปแล้ว ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ผลกระทบครั้งนี้ น่าจะรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ในช่วงแรกๆ โดยจะเห็นว่าหลายสำนักเศรษฐกิจ เริ่มออกมาปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2564 กันอย่างต่อเนื่อง
เริ่มจากศูนย์วิจัยธนาคาร กรุงศรีอยุธยา มองว่าผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ จะกระทบต่อจีดีพี 0.8% จึงปรับลดคาดการณ์จีดีพีจากเดิม 3.3% เหลือ 2.5% ตามด้วยบทวิเคราะห์ของเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ที่ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2% จากประมาณการเดิม 3.5% ภายใต้สมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเดิม 6.4 ล้านคนลดเหลือ 2 ล้านคน หรือกรณีเลวร้ายปีนี้ทั้งปีอาจไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยเลย และล่าสุดธนาคาร ทหารไทยมองว่า จีดีพีปีนี้จะขยายตัวเหลือ 2.4% จากประมาณการเดิม 3.5%
ครม.เคาะเยียวยา
ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเรียกร้องมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบจึงตามมาติดๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อ 12 มกราคม 2564 จึงออกมาตรการเยียวยาต่างๆ ทั้งการลดภาระค่าครองชีพ การยืดระยะเวลาการพักชำระหนี้ และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน
ทั้งนี้ครม.มีมติลดภาระค่านํ้า และค่าไฟ 10%เป็นเวลา 2 เดือน รอบบิลเดือน ก.พ.-มีนาคม ปี 64 โดยในส่วนของไฟฟ้า 90 หน่วยแรกใช้ฟรี สำหรับกิจการขนาดเล็กใช้ฟรี 50 หน่วยแรก และพิจารณาวงเงิน 3,500 บาทให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งจะเข้าสู่ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ผ่านแอป“เราชนะ”
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมมือกับผู้ประกอบการเพิ่มความเร็ว (อัพสปีด) อินเทอร์เน็ตบ้าน มือถือ ให้ใช้งานได้ดีขึ้น พร้อมให้ดาวน์โหลด “หมอชนะ” ฟรี ไม่คิดค่าดาต้า 3 เดือน และเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่ โครงการคนละครึ่ง 1 ล้านสิทธิ์ในวันที่ 20 มกราคมนี้
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจ จากพรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งใช้ไปกว่า 5 แสนล้านบาท ยังเหลือ ประมาณ 4.9 แสนล้านบาท และยังมี งบกลาง ของงบประมาณ ปี 2564 อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน และเร่งด่วน รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท เพื่อจะรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ที่เกิดขึ้น
เสริมสภาพคล่อง SMEs
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขยายวงกว้างมากน้อยเพียงใด กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว และมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ทั้งมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากธนาคารรัฐ และการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม(บสย.)
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับธปท. ได้มีการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ(Soft Loan ธปท.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564
ขานรับกระตุ้นศก.
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาครม.มีมติออกมา เป็นมาตรการที่ดีและตรงกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แม้ว่าจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นๆ แต่ก็นับว่าเป็นการช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนและธุรกิจที่กำลังจะตายได้ในช่วงนี้ เพราะการระบาดของไวรัสรอบสองต่างกับรอบแรก เพราะธุรกิจที่กำลังฟื้นตัวจากรอบแรกกำลังจะเริ่มต้นได้กีแต่พอมาเจอโควิดรอบสองทำให้การทำธุรกิจแย่ลง อาจจะปลดพนักงานหรือปิดกิจการลงไป แต่ในระยะยาวรัฐบาลต้องเยียวยาให้ตรงกลุ่มและชัดเจนมากขึ้น อาจจะปรับรูปแบบการเยียวยาว เช่น มาตรการคนละครึ่ง สามารถมาใช้กับธุรกิจท่องเที่ยวหรือบริการ เหมือนกับมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอกับการจัดสรรหรือไม่
“มาตรการเบื้องต้นนี้จะทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะการแพร่ระบาบดของไวรัสรอบนี้ถือว่าหนักกว่ารอบแรก เพราะมีคนกำลังจะตกลงานหรือตกงานไปแล้วหรือธุรกิจที่กำลังฟื้นตัวก็กลับไปแย่กว่าเดิม”
เพิ่มวงเงินคนละครึ่ง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการเยียวยาที่ออกมา เป็นเพียงระยะสั้น ที่มาช่วยบรรเทาผลกระทบช่วงที่ประชาชนรายได้ถูกกระทบ ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ใช่มาตรการหลักในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เข้าใจว่ากระทรวงการคลังกำลังดำเนินการเรื่องการจัดทำมาตรการอย่างรอบครอบ และละเอียดเพื่อให้มาตรการออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอที่คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. นำเสนอ เช่น การเพิ่มวงเงินจากโครงการคนละครึ่งให้เป็น 5,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นโครงการที่ดี และตอบโจทย์การใช้งานของประชาชน โดยถือว่าเป็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง
“มาตรการที่ออกมาเป็นแค่เพียงชั่วคราว ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมีอีกหลากหลายมาตรการที่รัฐบาลต้องพิจารณา เช่น การลดเงินนำส่งประกันสังคม การยกเว้นหรือลกค่าธรรมเนียมทางด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีกระแสเงินสด หรือสภาพคล่องจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย”
นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมา ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งการแพร่ระบาดรอบนี้ ภาครัฐเลือกที่จะไม่ล็อกดาวน์ประเทศ แต่ใช้วิธีควบคุมเป็นพื้นที่ ทำให้ทุกอย่างยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะยังกระทบธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ก็ตาม
“ช่วงไวรัสแพร่ระบาดปีที่แล้ว เรายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ปีนี้เริ่มมีความชัดเจนของการได้รับวัคซีน ในภาพรวมธุรกิจพอไปได้ ขอเพียงรัฐบาลอย่าล็อกดาวน์ก็พอ ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ยังวางแผนการผลิตกันตามปกติ คาดว่าตลาดรวมปี 2564 จะโต 5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขายได้ 7.9 แสนคัน”
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ สั่ง “เยียวยารอบ2” จ่าย 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน
เคลียร์ชัด “เราชนะ” จ่ายเงิน "เยียวยาเกษตรกร" รอบใหม่ 3,500 บาท 2 เดือน
ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ-ลูกจ้างประกันสังคม-รายได้สูงอดรับ 3,500 บาท