น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกในเดือนธ.ค.2563 กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 8 เดือนและเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน ที่ 4.71% มูลค่า 20,082.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 (ม.ค.–ธ.ค.) มีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 6.01% โดยเป็นตัวเลขการส่งออกที่ติดลบน้อยกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์เคยตั้งไว้ว่าในปีนี้การส่งออกจะติดลบอยู่ที่ 7% เนื่องจากสินค้าอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมมีการปรับฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ทำให้การส่งออกในเดือนธ.ค.พลิกกลับมาเป็นบวก โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคมีการปรับฟื้นตัวดีขึ้นส่งผลโดยตรงทำให้การส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวตามไปด้วย ขณะที่การนำเข้าเดือนธ.ค.2563 มีมูลค่า 19,119.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.62% การค้าเกินดุล 963.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้า ทั้งปี มูลค่า 206,991.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัว 12.39% ส่งผลให้ทั้งปี 2563 การค้าเกินดุล 24,476.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสาเหตุที่การส่งออกในเดือนธ.ค.นี้กลับมาเป็นบวก แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง เกิดจากการที่หลายประเทศมีประสบการณ์รับมือกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น พร้อมทั้งประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นบางพื้นที่ ทำให้ภาคการผลิตและการขนส่งยังดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ ผลจากการระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนในหลายภูมิภาค ช่วยกระตุ้นอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสามารถรักษาทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564 ได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 4.0% เนื่องจากได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกลับมายึดถือตามกติกาขององค์การการค้าโลก( WTO ) จะช่วยให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งจากสงครามทางการค้ามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงกลุ่มความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ก็เป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกรวมถึงไทย
ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้าซึ่งไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยในอนาคต อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า และเสียเปรียบคู่แข่งขันในภูมิภาคเดียวกัน