นาย สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ผู้อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์ม เราไม่ทิ้งกัน - ชิม ช้อป ใช้ - ไทยชนะ - คนละครึ่ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chao Jiranuntarat เกี่ยวกับโครงการ "เราชนะ" โดยได้ตอบข้อสงสัยว่าเหตุใดต้องใช้จ่ายผ่านแอป ไม่ให้เป็นเงินสด แล้วทำไมผู้ประกันตนมาตรา 33 ถึงไม่ได้สิทธิลงทะเบียนwww.เราชนะ.com แล้วกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนต้องทำอย่างไร ทั้งนี้เนื้อหาไขข้อข้องใจและรายละเอียดข้อความทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
การทำงานให้คนจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน ความเข้าใจที่แตกต่างกัน และได้รับข้อมูลที่แตกต่างกัน
ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ด้วยงบประมาณที่ไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้น จะมีบางกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน และด้วยข้อมูลอ้างอิงจากหน่วยงานรัฐที่อาจไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลนานัปการ จึงมีประเด็นพอสมควรในช่วงแรกๆ
ในโครงการเราชนะ การตั้งงบประมาณเพื่อไปถึงกลุ่มคนต่างๆ จึงตั้งไว้สูงกว่า 200,000 ล้านบาท ครอบคลุมคนกว่า 31 ล้านคนตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังมีประเด็นว่าด้วยผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่าเหตุใดจึงไม่ได้ และทำไมต้องให้ใช้จ่ายผ่านแอป ทำไมไม่ให้เป็นเงินเข้าบัญชี
ด้วยโครงการเราชนะได้ออกแบบให้มีการใช้จ่ายผ่านแอป เพราะอยากจะให้เงินส่วนนี้ไปถึงพ่อค้า แม่ค้า ผู้ให้บริการรายย่อย และต้องการให้เงินหมุนเวียนหลายๆรอบ ซึ่งอาจจะถึง 2-3% ของ GDP ได้ และรอบนี้ เปิดให้ถึงผู้ให้บริการรายย่อยอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายผ่านแอปมีความหลากหลายด้วย ประเทศเราก็ไม่ได้ร่ำรวย มีทางไหนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ก็ควรจะทำไม่ใช่หรือ
มีเสียงว่าบางคนไม่มี สมาร์ทโฟน จะทำอย่างไร เรื่องนี้ก็ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ว่ากลุ่มคนที่มีบัตรสวัสดิการคนจนจำนวน 14 ล้านคน ที่ได้รับเงินเข้าบัตรโดยอัตโนมัติทุกคนอยู่แล้ว ครอบคลุม กลุ่มนี้หรือไม่ คิดว่าครอบคลุมเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่เล็ดลอดจากกลุ่มนี้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน อีกประมาณ 2-3 แสนคน จะทำอย่างไร จะแจกเป็นบัตรให้ใช้จ่าย ได้หรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่หาทางกันอยู่
แล้วทำไมไม่ให้เป็นเงินเข้าบัญชีละ อันนี้คือการชั่งน้ำหนักว่าจะเอาเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่กระทบทั้งประเทศ หรือจะให้ความสะดวกกับบางคนมากขึ้น ด้วยบอกว่าค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูก จิปาถะ ที่ใช้ สมาร์ทโฟนจ่ายไม่ได้ ตอนนี้ก็มีการเพิ่มเรื่องบริการหลากหลายให้เปิดบริการได้ในโครงการเราชนะ อาจมีบ้างบางส่วนที่ไม่สะดวกเปิด ซึ่งก็อาจจ่ายด้วยเงินส่วนอื่นของประชาชนเองได้ แต่ก็จะพยายามให้น้อยที่สุด หรืออาจต้องหาทางออกอื่นๆเพิ่มเติม
แล้วพวกใช้ไม่เป็นละ คนแก่ๆ จะทำไง จากที่ได้ดูข้อมูลในโครงการคนละครึ่งจะเห็นได้ว่า กลุ่มคนอายุ 61-80 ปี มีจำนวนมากพอควรและใช้จ่ายสูงในระดับใกล้ 100 ล้านบาทต่อวัน และกลุ่มคนสายตาพิการก็ยังใช้จ่ายได้ในโครงการคนละครึ่ง
จึงอยากเชิญชวนให้ลองใช้ดู เพราะไม่ได้ยากเกินไป และในอนาคตหากรัฐมีโครงการอื่นๆอีก กลุ่มคนพวกนี้อาจไม่ต้องลงทะเบียนแย่งกันอีกแล้วก็ได้ เพราะมีความพร้อมระดับหนึ่ง และรัฐได้เคยรับรู้การเข้าโครงการมาแล้ว
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 33 กับผู้มีฐานะอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ในโครงการนี้ เพราะอยากให้เงินไปช่วยบรรเทาผู้ที่เดือดร้อนกว่าก่อนครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เราชนะ" เยียวยา 7000 ไม่จ่ายเป็นเงินสด ใช้ชำระ "ค่าเช่าบ้าน-ค่ามอเตอร์ไซค์-ค่าแท็กซี่" ได้
ไขข้อสงสัย "เราชนะ" ไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียน เราชนะ.com รับสิทธิ์เงินเยียวยา 7000 บาท
"ลงทะเบียน เราชนะ.com" เกษตรกร ก็มีสิทธิ์รับเยียวยา3500 ทำยังไง เช็กได้ที่นี่
"เราชนะ" เช็กด่วน คลังออก "พันธบัตรออมทรัพย์" รุ่นพิเศษ
"เราชนะ" ตรวจสอบ 7 คุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยา7,000 อีกรอบได้ที่นี่