นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมมือกับกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อร่วมกันศึกษาทดลองนำเทคโนโลยีเครือข่ายอัจฉริยะ 5G มาประยุกต์ใช้ตามแผนพัฒนาการบริหาร และการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทั้ง 14 แห่ง โดยตั้งเป้าให้ทุกนิคมฯก้าวสู่นิคมอุตสาหกรรมดิจิทัล (Smart Industrial Estate) ที่มีการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เบื้องต้น กนอ.จะร่วมกับกลุ่มทรูฯ ทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูล (Cloud Digital Server) การบริหารจัดการ Big Data ขับเคลื่อนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค (Digital Meter)รวมถึงบริการต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งเป็นโอกาสในการขยายเครือข่ายทรู 5G ไปยังภาคเอกชนหรือโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมได้อีกด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมไทยนั้น กำลังเข้าสู่ยุคของการแข่งขันทางด้านนวัตกรรมที่เน้นแนวคิดใหม่ๆเข้ามาใช้กับ นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิวัตินิคมอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยและสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้น การปฏิรูปนิคมอุตสาหกรรมไปสู่นิคมอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี 5G ถือเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปและพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล เชื่อมโยงทั้งภาคการผลิตและภาคบริการให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมด้านโทรคมนาคม และด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า กรอบความร่วมมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้อตกลงความร่วมมือนี้ ทั้ง กนอ.และกลุ่มทรู จะร่วมกันศึกษาโอกาสในการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมไทย ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 (Industrial 4.0) ,Facility 4.0 และ Smart Industrial Estate โดยนำร่องพัฒนาระบบ 5G ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ก่อน
ขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้ภาคเอกชนและภาครัฐจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ ในระบบ Big Data เพื่อให้ภาคธุรกิจ และ กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้ พร้อมกับการผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“กนอ.ดูแลนิคมฯ ด้วยการวางรากฐานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งปัจจุบันต้องเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco Industrial Estate) ที่นำเอา Smart Service และ Smart Infrastructure มาใช้ ซึ่งสามารถตอบโจทย์และความคาดหวังของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังเติมเต็มวิสัยทัศน์ของ กนอ.ในการเป็นผู้นำการพัฒนา นิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาคด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดันไทยผงาดมหานครผลไม้โลก กนอ.-สกพอ.-ปตท. ผนึกกำลังสร้างห้องเย็น
“กนอ.”อนุมัติขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง รับ “EEC”
“กนอ.” ผนึกผู้ประกอบการช่วยสมุทรสาครฝ่าวิกฤตเชื้อโควิด-19
"AIS-ทรู" ประลองกำลังรุมทึ้งคลื่น 5G หลัง CAT อ้างงบไม่พอลงทุน