ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ กันทั้งปฐพี เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท ที่มี นายกิตติกร ตัณเปาว์ รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธาน จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่ง วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า อัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด กนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และ กาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการ มีมติให้ “ยกเลิกการประมูล” รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และดำเนินการ “เปิดประมูลใหม่”
“กิตติกร” บอกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ไป คณะกรรมการมาตรา 36 จะรายงานให้คณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับทราบและพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 และพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่าง รฟม. และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC รวมทั้งให้รฟม.เริ่มกระบวนการเปิดประมูลใหม่ และนำเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณาต่อไป
โครงการรถไฟสายสีส้มนี้ถือเป็นไข่แดงของระบบการเดินทางในเมืองหลวงที่ จะเชื่อมต่อจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-ราชดำเนิน-บางขุนนนท์
การล้มการประมูลแล้วดำเนินการประมูลใหม่ของคณะกรรมการตามมาตรา 36 นั้น เป็นเพราะ “คณะกรรมการ มาตรา 36” ไปแก้หลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ที่ไม่ยึดหลักข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนที่ยึดเอาการที่รัฐได้ผลประโยชน์สูสุดคือมีการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันตํ่าที่สุดมาเป็นตัวตั้ง แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงหักการนี้กลางอากาศ และให้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาของคระกรรมการ มาตรา 36 อีก 10 คะแนน หลังจากที่ขายซองประมูลไปให้กับเอกชน 10 ราย จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และยื่นฎีการ้องทุกข์ต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อขอความเป็นธรรม
หลักเกณฑ์ใหม่ที่แก้ไขนั้นคือ จะนำซองเทคนิค (ซอง 2) และซองราคา (ซอง 3) มาพิจารณาให้คะแนนร่วมกัน ต่างจากหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้วิธีพิจารณาซองเทคนิคก่อน หากผ่านซองเทคนิคจึงจะเปิดซองราคา และการพิจารณาซองราคาที่มีน้ำหนักในการให้คะแนน 70 นั้นจะแบ่งออกเป็นการให้คะแนนขอกรับเงินจากรัฐตํ่าสุดแค่ 60 คะแนน อีก 10 คะแนนจะดูวามเหามะสม ความเป็นไปได้ ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการเหนือราคาที่เรียกร้องจากรัฐ
เหนือกว่านั้น “มติการล้มการประมูล” เกิดขึ้นสวนทางคำสั่งศาลปกครองกลางที่พิจารณาและมีคำตัดสินทุเลาคำร้องของเอกชน ซึ่งก็คือกลุ่ม บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยศาลปกครอง ระบุว่า
“เมื่อพิจารณาตามมาตรา 38 ของพรบ.ร่วมทุนฯแล้ว ก็มิได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกแต่อย่างใด และการที่คณะกรรมการมาตรา 36 ที่เป็นถูกฟ้องอ้างว่า มีอำนาจพิจารณาดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนของโครงการร่วมทุนตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 38 (7) ศาลปกครองเห็นว่า อำนาจดังกล่าวเป็นเพียงการพิจารณาดำเนินการอื่นๆ ในส่วนที่มิใช่เป็นสาระสำคัญ”
โดยคณะกรรมการมาตรา 36 พลิกเกมไปใช้อำนาจตามหนังสือชี้เชิญการลงทุนในเงื่อนไชและหลักการเดืมที่ขายซองให้เอกชนไปแล้ว “ยํ้าว่าเงื่อนไขเดิมก่อนแก้ไขใหม่” ในข้อ 12 มาเป็นเหตุผลในการล้มการประมูล ประกาศหนังสือเชิญชวนดังกล่าวนั้น ลงนามโดย “ภัคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่า รฟม. ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งระบุว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ประกาศเชิญชวน
12. การสงวนสิทธิ์ รฟม. สงวนสิทธิ์ ดังนี้
12.1 สงวนสิทธิ์ตามดุลพินิจที่จะยกเลิกการประกาศเชิญชวนข้อเสนอ หรือยกเลิกการคัดเลือก โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลยหรือจะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์สุทธิที่สูงสุดก็ได้ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใด ๆ จาก รฟม. ได้
12.2 สงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลด หรือขยายระยะเวลาของการคัดเลือกตามประกาศเชิญชวนข้อเสนอฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของ รฟม. และมติของคณะรัฐมนตรี
12.3 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ. 2562 มีสิทธิที่จะเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอที่ชนะการคัดเลือกเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
12.4 สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข และ/หรือ เพิ่มเติมรายละเอียดในร่างสัญญาเพื่อให้สอดคล้องกับผลการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอและผลการเจรจาต่อรองระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กับผู้ยื่นข้อเสนอรวมทั้งความเห็นและผลการตรวจพิจารณาร่างสัญญา (ถ้ามี) จากสํานักงานอัยการสูงสุดและ มติคณะรัฐมนตรี
โครงการนี้ จึงมีการป้องปากซุบซิบกันว่า “คนการเมือง” ร่วมรัฐบาลด้วยกัน มีการแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว จึงมีการ “จับประชาชน” ที่จะได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรจากเงินลงทุนที่มาจากภาษีประชาชนเป็นตัวประกัน
วงการธุรกิจก่อสร้าง และข้าราชการในกระทรวงคมนาคมป้องปากซุบซิบกันว่า โครงการนี้เงินลงทุน 1.42 แสนล้านบาท นั้นแยกเป็นงานโยธาและการก่อสร้างราว 9.6 หมื่นล้านบาท -1 แสนล้านบาท งานระบบการเดินรถและงานเวณคืนประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น “บรรดามืออาชีพทางวิศกรรมและการบริหารเงินบอกว่าถ้าทำดีๆ จะมีส่วนส่วนต่างของการควบคุมต้นทุนเพื่อสร้างกำไรอยู่ประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท”
แปลเป็นไทยว่า ถ้ามีคนเสนอราคาตํ่ากว่าราคากลาง 1 แสนล้านบาท ก็ย่อมทำได้ แต่เมื่อไปเพิ่มวิธีการคัดเลือการนำคะแนนเทคนิกและราคามารวมกัน แถมบวกด้วย “ดุลพินิจ” ของคณะกรรมการมาตรา 36 อาจทำให้คนที่เสนอราคาขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตํ่าที่สุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะงานนี้ก็เป็นไปได้...
ผมไม่ทราบว่า ทุกท่าน รวมถึงนายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามทันวิธีคิดเขาหรือไม่ แต่เขาพูดกันเยี่ยงนี้จริงๆ ครับ
คำถามคือ คณะกรรมการมีอำนาจในการล้มการประมูลหรือไม่ และถ้าล้มการประมูลไปจะมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างไรเพื่อรักษาประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชน ให้ดีที่สุด
แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงจาก คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า รฟม.จะเริ่มต้นกระบวนการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบใหม่ ทันทีหลังคณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติยกเลิกการประมูลในวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 1-2 เดือน เนื่องจากต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในการร่างทีโออาร์ใหม่ เช่น เกณฑ์การพิจารณาคะแนนเทคนิค เป็นต้น
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะประมูลนั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ คือ จะนำซองเทคนิค (ซอง 2) และซองราคา (ซอง 3) มาพิจารณาให้คะแนนร่วมกัน ต่างจากหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้วิธีพิจารณาซองเทคนิคก่อน หากผ่านซองเทคนิคจึงจะเปิดซองราคา
แปลว่า ล้มการประมูลในรอบที่แล้ว เพราะเอกชนร้องศาลปกครองและคัดค้านในเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลที่ปรับปรุงใหม่ อันอาจจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเสนอราคาขอรับเงินจากรัฐในราคาตํ่าสุดแล้ว ทำการเปิดประมูลใหม่โดยใช้เงื่อนไขที่เอกชนคัดค้านนั่นแหละมากำหนดเป็น ทีโออาร์ใหม่ แล้วเปิดขายซองประมูลราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม....ผมละมึน
ผมไม่รู้ว่าทุกคนจะคิดอย่างไร แต่ผมว่าพิลึกเอามากๆ
พิลึกแรก เอกชนเขาค้านว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลังจากการขายซองไปแล้วนั้น ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ในเรื่องราคา และการดุลยพินิจ
พิลึกที่สอง เอกชนเขาร้องต่อศาลของทุเลา ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งทุเลาว่า “เมื่อพิจารณาตามมาตรา 38 ของพรบ.ร่วมทุนฯแล้ว ก็มิได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกแต่อย่างใด และการที่คณะกรรมการมาตรา 36 ที่เป็นถูกฟ้องอ้างว่า มีอำนาจพิจารณาดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนของโครงการร่วมทุนตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 38 (7) ศาลปกครองเห็นว่า อำนาจดังกล่าวเป็นเพียงการพิจารณาดำเนินการอื่นๆในส่วนที่มิใช่เป็นสาระสำคัญ” แต่ยังไม่ทันประมูลคณะกรรมการก็ล้มประมูล ก่อนที่ศาลจะตัดสิน เรียกว่าใช้อำนาจทางบริหารก่อนที่ศาลจะตัดสิน
พิลึกต่อมา คือ ไม่ว่าถูกว่าผิด อั๊วจะใช้วิธีประมูลแบบนี้ ส่วนเรื่องการฟ้องร้องคดีต่างๆ ก็ต้องเป็นหมันล้มไป เพราะฟ้องในหลักการเดิม...เงื่อนไขเดิม แต่นี้คือการประมูลใหม่..
เอาละไม่ว่าโครงการนี้จะเป็นเช่นไร หมูจะหามใครอย่าเอาคานมาสอด
ผมพามาดูหนังสือคัดค้านของผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ที่ทำเรื่องคัดค้านการแก้ไขหลักเกณฑ์ทีโออาร์ภายหลังการซอง เพื่อประมูลโครงการ ต้องบอกว่าเธอกล้าหาญชาญชัยในการแสดงความคิดเห็นไว้จริงๆ ครับ
เรียน ประธานกรรมการคัดเลือกตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
“สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วม ลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ ๑๓/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ดิฉัน นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง กรรมการผู้แทนสํานักงบประมาณใน คณะกรรมการคัดเลือกฯได้กล่าวถึงประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) นําเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้า แห่งประเทศไทยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการดําเนินโครงการ
โดยในรายละเอียดหนังสือ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ กค ๐๘๒๐.๑/๔๕๙๙ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ (หน้า ๖ และ๗ หัวข้อ ๔.๖ รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนและหน้าที่ของรัฐและเอกชน) ได้กําหนดหลักการ ประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนไว้ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุนรวมทั้ง ๒ ส่วนจากภาครัฐเมื่อคิดเป็น (มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก” ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเจตนาให้ประเมินข้อเสนอโดยใช้มูลค่า ปัจจุบัน (NPV) ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐสูงสุดในการประเมินผู้ชนะการคัดเลือก
เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกฯ (นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี) ได้ชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นมติคณะกรรมการ PPP แต่เป็นการประมวล สาระสําคัญเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรีของสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการ PPP และคณะกรรมการคัดเลือกบางท่านมีความเห็นว่า การ กําหนดหลักเกณฑ์การประเมิน ข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนเป็นอํานาจหน้าที่และดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ นั้น
ดิฉัน นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง กรรมการผู้แทนสํานักงบประมาณขอยืนยันความเห็นว่า หลักการประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนที่กล่าวไว้ในหนังสือคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน ที่ กค ๐๘๒๐.๑/๔๕๙๙ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติไว้เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๓ เนื่องจากหลักการดังกล่าวเป็นไปตามผลการศึกษาและวิเคราะห์ โครงการฯที่การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้นําเสนอคณะกรรมการ PPP เมื่อคราวขออนุมัติการดําเนิน โครงการต่อคณะกรรมการ PPP และประเด็นดังกล่าวเป็นสาระสําคัญจึงได้มีการนําเสนอไว้ในหนังสือ คณะกรรมการ PPP ในการขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติจากการประชุมเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๓ อนุมัติการดําเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเสนอ
ดังนั้น หากคณะกรรมการคัดเลือกฯจะปรับปรุง หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่แตกต่างไปจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไว้ ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดิน “คณะกรรมการคัดเลือกฯจะต้องนําเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา อนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน จึงจะดําเนินการได้”
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสํานักงบประมาณในคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ประเทศนี้ต้องการคนแบบเธอครับ!