เรียนรู้จากอดีต และการเปลี่ยนแปลง  สู่อนาคตที่แข็งแกร่ง (1) 

12 ก.พ. 2564 | 21:04 น.

ปลายปีที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์คุณวรรณี รัตนพล ประธานกรรมการบริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส (IPG Mediabrands) ประเทศไทย หรือที่ทุกคนในบริษัทเรียกด้วยความเคารพว่า “พี่วรรณี” ในหัวข้อ Lifelong Learning (การเรียนรู้ตลอดชีวิต) บทสนทนาของเราครั้งนี้เรียกได้ว่าครบทุกรส พี่วรรณีถ่ายทอดเรื่องราวใน “อดีต” ของวงการมีเดียเอเยนซีให้ฟัง รวมทั้งมุมมองถึงอนาคตของวงการมีเดียเอเยนซีไทย บทความนี้ผู้เขียนขอตัดบางช่วงบางตอนจากการสัมภาษณ์ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในช่วง 30 ปีของมีเดียเอเยนซี ในประเทศไทย ซึ่งอาจช่วยให้เห็นภาพอนาคต โอกาสและทางรอดอย่างยั่งยืนในวงการนี้ได้ชัดขึ้น

พี่วรรณี ถือว่าเป็นหญิงเหล็กแถวหน้าที่ได้รับการยอมรับของวงการมีเดียเอเยนซีมาเป็นเวลายาวนาน แม้จะอยู่ในวัยเลยเกษียณแล้ว พี่วรรณีก็ยังคงดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารของ IPG Mediabrands คอยเป็นที่ปรึกษาและผู้ถือหางเสือให้กับบริษัท โดยพี่วรรณีกล่าวถึงบทบาทของตนเองในตอนนี้ว่า “บทบาทของพี่ คือ การเป็นไกด์หรือโค้ช เพื่อให้บริษัทเดินต่อไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง พี่จะคอยให้ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยเน้นการมองอนาคตเป็นหลักว่า เราควรจะไปทางไหน เพราะคนที่ทำงานแถวหน้าที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับลูกค้า พวกเขาก็จะมีภารกิจที่ต้องบริหารจัดการทุกวัน จะไม่ค่อยมีเวลามากนัก พี่ก็จะช่วยมองไปข้างหน้าแทนให้ ตอนนี้มีเดียเอเยนซีของเราเริ่มมองหาอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง แต่ที่เราอยากทำมาตลอด คือ เรื่องของคน และเรื่อง Automation (ระบบควบคุมอัตโนมัติ) ที่ใช้ AI (Artificial Intelligence หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของนักสื่อสารการตลาดแน่นอน”

วรรณี รัตนพล

พี่วรรณี หนึ่งในผู้บริหารที่ตามทันเทคโนโลยีเสมอกล่าวต่อถึงเรื่อง AI ว่า “เป้าหมายของเราคือ เราจะใช้เทคโนโลยีนี้มาพัฒนาให้งานของนักสื่อสารการตลาดทำงานได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นได้อย่างไร พี่พยายามผลักดันเรื่อง Automation เพื่อลดการทำงานแบบวันต่อวัน ซ้ำๆ เดิมๆ ออกไปให้มากที่สุด แทนที่จะใช้เวลาในการดึงข้อมูลทุกวัน เอาเวลานั้นมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลน่าจะมีประโยชน์กว่า” ขณะที่เรื่องทรัพยากรบุคคลนั้น พี่วรรณีได้แบ่งประเภทของบุคคลในการทำงานเป็น 2 ประเภท

ได้แก่ 1. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialist) และ 2. ผู้มีความรู้หลากหลาย (Generalist) ซึ่งพี่วรรณีมองว่า มีเดียเอเยนซีต้องมีคนทั้ง 2 ประเภท เนื่องจาก Generalist ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เปิดเรื่องและขายงานให้ลูกค้า ส่วนพวก Specialist จะเป็นคนลงรายละเอียดเชิงลึกในเรื่องที่พวกเขาถนัด

 

อย่างไรก็ตามพี่วรรณีมองว่า ถ้าในมีเดียเอเยนซีมีระบบ Automation เราก็ไม่จำเป็นจะต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคล การดำเนินงานจะมีความคล่องตัวมากขึ้น “ถ้า Planner (เจ้าหน้าที่วางแผนสื่อโฆษณา) และ Buyer (เจ้าหน้าที่ซื้อสื่อโฆษณา) สามารถทำงานเสมือนเป็นคนๆ เดียว ก็จะตอบลูกค้าได้ทันที ซึ่งดีกว่าการวิ่งถามกันไปมา ถ้าหากว่าคนๆ นึงสามารถทำงานได้หลากหลาย มีความรู้ทางการตลาดที่หลากหลาย แต่เข้าใจลึกซึ้ง ระบบการทำงานและการให้บริการของเราก็จะเร็วขึ้น ดีขึ้น และแน่นขึ้น แต่อันดับแรก เราทุกคนในองค์กรต้องเข้าใจก่อนว่า โลกมันเปลี่ยนทุกวัน มันไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่เดิม”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น แพลตฟอร์มเพื่อการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ Video Streaming (วิดีโอและภาพยนตร์ออนไลน์จากผู้ให้บริการ) และแพลตฟอร์มการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

แน่นอนเมื่อโลกเปลี่ยน มนุษย์ก็ต้องปรับตัวตามเพื่อความอยู่รอดพี่วรรณีก็เป็นคนที่เคยเจอการเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีมาตลอด พี่วรรณีบอกกับผู้เขียนว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีมีมาทุกยุคทุกสมัย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ธรรมชาติของโลก” ไปแล้ว “สมัยก่อน เราวางแผนสื่อโดยใช้เครื่องคิดเลขและเครื่องพิมพ์ดีด Buyer จะใช้กระดาษแผ่นยาวๆ วางสปอร์ตซื้อโฆษณาโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการเป็นตู้ใหญ่ๆ เกือบเต็มห้อง เครื่องคอมพิวเตอร์ยังเป็นจอแสดงภาพสีเขียว แต่ก่อนจะกลับมาทำงานด้านนี้พี่ไปเรียนการใช้โปรแกรมประยุกต์สำหรับการทำงานข้อมูลที่เรียกว่า โลตัส 1-2-3 (Lotus 1-2-3) ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์คล้ายๆ กับโปรแกรมเอ็กเซล (Excel) และก็เรียนซอฟท์แวร์คล้ายๆ เวิร์ด (Word) ด้วย” 

                                                     (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ความสุข’   แพร่ได้ เหมือน ‘ไวรัส’(จบ)

‘ความสุข’   แพร่ได้ เหมือน ‘ไวรัส’ (1)

“การเลือก” วิธีสร้างสุข  ของมนุษย์งาน