เชื่อว่าหลายๆ คน คงเคยเห็นภาพคนอินเดีย ออกมาเล่นสาดสี ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี การเล่นสาดสีนี้ ชาวอินเดียเรียกว่า เทศกาลโฮลี (Holi festival) เทศกาลโฮลี จะมีการจัดขึ้น 2 วันในช่วงเดือนมีนาคม (แรม 1 ค่ำ เดือน 4) ซึ่งเทศกาลนี้เรียกอีกอย่างว่า "เทศกาลแห่งสีสัน" ผู้คนมากมายจะออกมาเฉลิมฉลองด้วยการสาดสีหรือป้ายสี ซึ่งมีลักษณะเป็นฝุ่นผงใส่กัน อย่างสนุกสนาน ซึ่งการสาดสีใส่กันนี้สันนิษฐานว่า เป็นที่มาของประเพณีการสาดน้ำของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ เทศกาลสงกรานต์ นั่นเอง
สงสัยไหมฝุ่นผงสีทำมาจากอะไร?
ฝุ่นผงสีจะทำมาจากธรรมชาติ อาทิ ดอกทองกวาว, บีทรูท และ ขมิ้น เป็นต้น อันเป็นนัยะที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ มีขนมที่ทำเพื่อรับประทานโดยเฉพาะในเทศกาลนี้ที่ทำมาจากนมและนมเปรี้ยวเป็นหลัก เชื่อกันว่าหากได้รับประทานขนมด้วยจิตใจเบิกบานจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการเริ่มต้นปีใหม่
อีกหนึ่งความเชื่อเกี่ยวกับเทศกาลโอลี คือ การสาดสีใส่กันนั้น เชื่อว่า เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย มีปกรณัมมากมายเกี่ยวกับที่มาของเทศกาลนี้ แต่ที่เชื่อกันมากที่สุด คือ การเฉลิมฉลองที่พระวิษณุ หนึ่งในตรีมูรติ เอาชนะนางมารโฮลิกะ ซึ่งเป็นน้องสาวของหิรัณยกศิปุ ที่ดูหมิ่นผู้ที่นับถือพระองค์ ทำให้นางมารถูกไฟแผดเผาจนมอดไหม้ วันก่อนการสาดสีจึงมีการก่อกองไฟเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีไปจากจิตใจ
การสาดสีจะเล่นกันเฉพาะช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น จากนั้น ผู้คนก็จะแยกย้ายไปพักผ่อน เมื่อตกเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน แจกขนมหวานและสวมกอดกัน เทศกาลโฮลีจึงถือเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ มิตรสหายได้แสดงไมตรีเข้าสวมกอดกัน ผู้ที่เคยขัดแย้งกันก็จะได้ปรับความเข้าใจกัน
ขอบคุณข้อมูล : Facebook IN Travel Expert