ฐานเศรษฐกิจ ได้รับรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มสภาประชาชนแห่งประเทศไทย ทำหนังสือร้องเรียนถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยหนังสือร้องเรียน อ้างถึงคดีการจับกุมเครื่องชั่งที่ไม่ได้มาตรฐาน คดีอาญาเลขที่ 1380/63 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2563 สถานีตำรวจอำเภอแหลมฉบัง
โดยมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และท่าเรือแหลมฉบัง ในข้อหาร่วมกันกระทำการใดๆ ที่ทำให้โปรแกรมที่ใช้กับเครื่องชั่งแสดงผลการชั่งผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามมาตรา 26 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 75/1 มาตรา 76 (2)
และเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงพานิชย์เรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องชั่งแบบแทนชั่งที่ติดตรึงซึ่งมีพิกัดกำลังตั้งแต่ 30 เมตริกตันขึ้นไป และมีส่วนชั่งน้ำหนักเป็นระบบดิจิทัล (เครื่องชั่งรถยนต์) ตามข้อ 4 (3.4) รับโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากข้อมูลเอกสารการร้องเรียนนายกรัฐมนตรี พบว่าตั้งแต่มีการแจ้งความดำเนินคดีในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 และเกิดเหตุโควิ-19 ระบาดในรอบสอง จึงอาจจะทำให้คดีมีความล่าช้าหากนับจากวันที่แจ้งความถึงปัจจุบันนี้รวม 73 วัน ยังไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ แก่ผู้กระทำผิด
ที่สำคัญยังมีการใช้เครื่องชั่งสนับสนุนให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปกติทุกวัน เป็นการผิดต่อข้อกำหนดในสัญญา IMO (International Maritime Organization) มาตรฐานการขนส่งสินค้าทางทะเล ทำให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในระบบการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพราะน้ำหนักคือหัวใจของการขนส่งทางเรือ หากเกิดความผิดพลาดใน การชั่งจะส่งผลให้การคำนวณการบรรทุกสินค้าคลาดเคลื่อนและผิดพลาด เกิดผลเสียหายต่อการขนส่งและเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
ซึ่งเคยมีเหตุเรือขนส่งสินค้าจมกลางทะเลเนื่องจากความผิดพลาดของน้ำหนักที่บรรทุกขึ้น เรือ และการจัดเก็บภาษีที่ต้องใช้น้ำหนักในการประเมินหรือคำนวนภาษีนั้น จะทราบได้อย่างไรว่าการจัดเก็บภาษีถูกต้องหรือไม่
หนังสือร้องเรียนระบุด้วยว่า สภาประชาชนแห่งประเทศไทย ระบุว่า ได้รับการเชิญจาก นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เข้าไปพูดคุยวางแผนการจัดการท่าเรือสีขาว เพื่อพัฒนาการท่าเรือให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล หลังการเข้าสืบค้นเพื่อหาข้อมูลต่าง ๆ พบว่าการใช้เครื่องชั่งที่ประตูตรวจสอบมีความผิดปกติในการให้บริการชั่งน้ำหนักรถ จึงนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษา นายอธิรัฐ และได้ประสานต่อไปยัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการชั่งตวงวัดและเป็นที่มาของการปิดการใช้เครื่องชั่ง 4 เครื่อง ชนิดสะพาน ณ ท่าเรือแหลมฉบังขึ้น
ในวันเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่จากกองชั่งตวงวัดได้แจ้งด้วยวาจากับเจ้าหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบังให้ทราบเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ชั่งตวงวัด เรื่องเครื่องชั่งที่ถูกติดตั้ง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ได้อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่ม ซึ่งเครื่องชั่งระบบ WIM ที่เป็นเครื่องชั่งที่มีความคลาดเคลื่อนสูง และไม่มีความเที่ยงตรงแม่นยำ ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในการชั่งน้าหนักเพื่อคิดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนและค่าภาษีอากรได้
เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นและยังไม่มีการแก้ไขใด ๆ เรื่องการชั่งของท่าเรือแหลมฉบัง นายอธิรัฐ มีความเป็นห่วงถึงความเป็นเสถียรภาพของการให้บริการของท่าเรือ ซึ่งยังมีการใช้เครื่องชั่งที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์อีกจำนวน 19 เครื่องที่ท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้ประสานให้กระทรวงพาณิชย์ออกหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้รับทราบตามเอกสารที่แนบมาด้วย ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ดำเนินการตาม พรบ. ชั่งตวงวัด ในทุก ๆ ท่าเรือที่เป็นความรับผิดชอบของการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ถูกต้องอย่างเร่งด่วน
หนังสือร้องเรียนระบุ ถึงผู้ร้องเรียนด้วยว่า มีความกังวลของในการปฏิบัติการครั้งนี้ มีความลำบากในการทำงานที่ต้องไปเผชิญกับอิทธิพลในรูปแบบต่างๆ จึงขอความอนุเคราะห์นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติช่วยดำเนินการตามกฏหมายให้เกิดความถูกต้องและเป็นประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :