เราเป็นธุรกิจครอบครัว แบบไหน (1)

07 มี.ค. 2564 | 08:37 น.

ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ดูรวมๆแล้วอาจจะเหมือนกันหมด แต่หากพิจารณาจากความเป็นเจ้าของและวิธีบริหารกิจการ จะมี 4 ประเภท หากต้องการให้ธุรกิจครอบครัวยังอยู่ต่อไปยาวนานจึงจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะธุรกิจของตน จุดแข็งและความท้าทายต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย ประเภทการเป็นเจ้าของไม่ได้เป็นเพียงเรื่องทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังสามารถกำหนดหรือจำกัดการมีส่วนร่วมของสมาชิกคนอื่นๆได้อีกด้วย รูปแบบความเป็นเจ้าของทั้ง 4 ประเภทมีดังนี้

เจ้าของคนเดียว (Sole owner) มีลักษณะที่สมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งเป็นเจ้าของบริษัท และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจทั้งหมด รูปแบบนี้จะได้ผลดีที่สุดเมื่อธุรกิจต้องการความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดและสร้างสภาพคล่องเพียงพอที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของด้วย

ตัวอย่างเช่น บริษัท House of Camus ผู้ผลิตคอนญัก (cognac) ในฝรั่งเศส ซึ่งมีเจ้าของคนเดียวนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการในปีค.ศ.1863 ในแต่ละรุ่นจะมีสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งเป็นผู้นำบริษัท โดยซื้อหุ้นของพี่น้องเอาไว้  ทั้งนี้ Cyril Camus เจ้าของคนปัจจุบันกล่าวว่ารูปแบบนี้มีความสำคัญต่อการมีอายุยืนยาวของบริษัท เพราะเมื่อไม่มีพี่น้องหรือญาติเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วความขัดแย้งในครอบครัวจึงมีน้อยมาก แต่ความเป็นเจ้าของคนเดียวก็มีข้อเสียคือ การสืบทอดกิจการกลายเป็นปัญหาสำคัญซึ่งอาจพิจารณาจากความดีความชอบ (ตามที่เจ้าของปัจจุบันประเมิน)

ธุรกิจครอบครัว

หรือกำหนดโดยให้สิทธิแก่บุตรคนแรกหรือเกณฑ์อื่นๆ ตามข้อตกลงของครอบครัว นอกจากนี้เจ้าของยังต้องควบคุมผลประโยชน์ที่จะกระจายไปยังสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆอีกด้วย รูปแบบนี้ยังอาจมีความเสี่ยงเนื่องจากต้องใช้เงินทุนของครอบครัวจำนวนมากและอาจทำให้คนเก่งในแต่ละรุ่นเดินจากไป

เจ้าของแบบหุ้นส่วน (Partnership) มีลักษณะที่ความเป็นเจ้าของถูกจำกัดไว้เฉพาะสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจนี้ ซึ่งจะช่วยให้มีมุมมองที่หลากหลายขึ้นและต้องมีกฎที่ชัดเจนในการควบคุมวิธีการเข้าร่วมหรือออกจากกลุ่มการเป็นเจ้าของและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของ

ตัวอย่างเช่น ครอบครัว Brenninkmeijer ชาว German-Dutch ซึ่งเป็นเจ้าของรุ่นที่ 6 ของธุรกิจเสื้อผ้าเครือ C&A โดยบุตรหลานของเจ้าของปัจจุบันจะได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนโดยการแข่งขันกันหลังจากการประเมินอย่างเข้มงวดและการฝึกงานแล้ว เจ้าของแบบหุ้นส่วนต้องทำให้ครอบครัวมีส่วนร่วมอย่างมาก และอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินทุนและคนเก่งไป

โดยทั่วไปแล้วเจ้าของแบบหุ้นส่วนจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเพราะไม่ได้พึ่งพาผู้นำเพียงคนเดียว แต่อาจต้องเผชิญกับความขัดแย้งว่าใครบ้างที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าของ

ความเป็นเจ้าของแบบกระจายตัว (Distributed ownership) มีลักษณะที่สมาชิกในครอบครัวคนใดก็อาจเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ รูปแบบนี้จะใช้ได้ผลดีเมื่อความมั่งคั่งของครอบครัวส่วนใหญ่อยู่ในบริษัท อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายหรือมีระบบบริหารงานของครอบครัวที่เข้มแข็ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัท Votorantim Group ในบราซิล ซึ่งสมาชิกในครอบครัวแต่ละรุ่นจะส่งต่อหุ้นของตนจำนวนเท่าๆ กัน 
(อ่านต่อฉบับหน้า)

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :