เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)
ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจําปี ครั้งที่สอง) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 พิจารณาญัตติด่วนกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
แก้รธน.ประชามติก่อน
ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอํานาจจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
วันเดียวกัน นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งหนังสือแจ้งถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เนื้อหาระบุว่า
ตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และศาลรัฐธรรมนูญ สั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ รัฐสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระแรกและวาระสองแล้ว และกำลังจะมีการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลงมติในวาระสาม ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้
รัฐสภาส่อตีตกวาระ 3
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กล่าวว่า ตนยังงงในคำวินิจฉัยดังกล่าว และเชื่อว่าในวันที่ 17 มีนาคม ที่มีการประชุมรัฐสภา ที่ประชุมต้องถกเถียงในความหมายดังกล่าว ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่ารัฐสภาไม่สามารถลงมติได้
ส่วนที่คำวินิจฉัยดังกล่าวเข้าข่ายก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญระบุให้ทำประชามติก่อน วันที่ 17 มีนาคม ต้องคุยในรัฐสภา เพื่อถามว่าจะตีความอย่างไร ดีไม่ดีอาจจะโหวตตกก่อน
เชื่อ“รัฐสภา”ป่วนแน่
สำหรับท่าทีของฝ่ายค้านนั้น นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ทราบผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งยังไม่ชัดเจน เพราะทำให้เกิดการตีความได้หลายทางว่า การทำประชา มติก่อนและหลังแก้รัฐธรรมนูญ จะเริ่มจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หรือหลังจากมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) แล้ว
แต่ส่วนตัวคิดว่า การประชุมรัฐสภาในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ น่าจะเดินหน้าลงมติในวาระสามได้ แต่เชื่อว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งจะทำให้การประชุมไม่ราบรื่น เป็นภาระของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องวินิจฉัย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะยอมรับการใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาหรือไม่ ทั้งนี้ฝ่ายค้านจะมีการหารือกันในวันที่ 15 มีนาคมนี้
“ชวน”ลุยโหวตวาระ 3
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขณะนี้ความเห็นก็ยังไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่นัก ยังคงตีความกันอยู่ ดังนั้น จึงต้องรอรายละเอียดของคำวินิจฉัยก่อน ส่วนการโหวตแก้รัฐธรรมนูญในวาระสามนั้น นายชวน กล่าวว่า ตนได้สั่งบรรจุระเบียบวาระก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา และที่โหวตวาระสอง ไปแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร
“ส่วนวาระสาม ที่จะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า โหวตผ่านวาระสอง แล้วให้ทิ้งเวลา 15 วัน แล้วจึงโหวตวาระสาม ซึ่งขณะนี้วาระสาม ได้พ้น 15 วันไปแล้ว”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,661 หน้า 12 วันที่ 14 - 17 มีนาคม 2564