แม้ว่าประเทศไทย จะได้รับ “ใบเขียว” การทำประมงจากสหภาพยุโรป(อียู) แล้วก็ตาม แต่การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ภายใต้พระราชกำหนด การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้นำค่าผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน หรือ MSY มาใช้เป็น “จุดอ้างอิง” ในการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมงในน่านน้ำไทย (TAC) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตอันจะทำให้สถานการณ์การทำการประมงของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะ Overfishing ซึ่งการจำแนกเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นจุดอ้างอิงในการออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ต่อเนื่องมาในรอบการประมง ปี พ.ศ. 2561-2562 และ พ.ศ 2563-2564 (กราฟิกประกอบ)
ทั้งนี้จำนวนเรือประมงพื้นบ้านจากการสำรวจ ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 มีประมาณ 50,000 ลำ ได้รับการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำในปีการประมง 2563 จำนวน 259,151 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17 ของ TAC เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 11 ในปีการประมง 2561-2562 จำนวนเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และได้รับการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำ ปีการประมง 2563 (ณ วันที่ 1 เมษายน 2563) เท่ากับ 10,392 ลำ ได้รับการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำ 1,238,529 ตัน คิดเป็นร้อยละ 80 ของ TAC ลดลงจากเดิมร้อยละ 86 ในปีการประมง 2562 รวมการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำ ปีการประมง 2563 ประมาณ 1,497,680 ตัน มีปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือ 47,092 ตัน (อ้างอิงข้อมูลคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ)
ล่าสุดกำลังร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. ....สำหรับประกอบการใช้ต่อใบอนุญาตทำการประมง ในปี 2565-2566 ที่คาดว่ากรมประมงจะเปิดให้ขอใบอนุญาตทำประมงในต้นปีหน้า ในวันที่ 10 มีนาคม 2564 จึงได้จัดประชุมชี้แจงร่างดังกล่าวนี้
นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงฯข้างต้นว่า ไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจ โดยการออกกฎหมายที่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตลอดเวลา ซึ่งไม่เป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพ แต่กลับเป็นการสร้างความยุ่งยาก เสียเวลาเปลืองเงินเปลืองทอง และเป็นการซ้ำเติมชาวประมงในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ยกตัวอย่าง การกำหนดหลักเกณฑ์การยกสิทธิ์สัตว์น้ำ โดยการเพิ่มเงื่อนไขเป็นเครื่องมือประสิทธิภาพสูงไปต่ำ ทำให้เรือลากคู่ เรืออวนล้อมจับ เรืออวนล้อมจับปลากะตัก และเรืออวนลากคานถ่าง ไม่สามารถได้รับสิทธิ์ เนื่องจากโอนให้กันไม่ได้ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นขอให้ใช้กฎการขออนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 ตามเดิม
นายมงคล กล่าวอีกว่า สมาคมไม่ได้ขู่ ก่อนที่กฎหมายจะออก ต้องส่งมาให้มาพิจารณาอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นคงรับไม่ได้ แล้วหากกฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ แต่หากยืนยันจะบังคับใช้ พวกตนคงไม่ยอมรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว “แค่นี้ยังเจ๊งกันไม่พอหรือ ในการที่นำปัญหาไอยูยู มาแก้โดยอ้างอียู มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ปี 2563 ส่งออกสินค้าไปแค่ 5% หรือกว่า 4,000 ล้านบาท แต่มาทำร้ายชาวประมงไทยทั้งประเทศ 6 ปีที่ผ่านมายังไม่รู้สึกผิดอีกหรือ”
ทั้งนี้ชาวประมง 22 จังหวัด จะคัดค้านให้ถึงที่สุด เพราะร่างกฎกระทรวงที่ออกมาใหม่ ลิดรอนสิทธิ ในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะมีการกำหนดท่าที และการเคลื่อนไหว โดยมีอนาคตเรือประมงพาณิชย์ 10,392 ลำ เป็นเดิมพัน
ที่มา : หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564