การควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซีพี รีเทล ดีเวอร์ลอปเม้นท์ จำกัด กับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถูกมองว่าเป็นการผูกขาดธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องนั้น ได้กลายเป็นคดีนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้สั่งภาครัฐเพิกถอนมติดังกล่าวแล้ว
วันนี้ (15 มี.ค.64 ) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภค และตัวแทนผู้บริโภคจากทั่วประเทศ ยื่นฟ้องคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนมติกขค.ที่อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซีพี รีเทล ดีเวอร์ลอปเม้นท์ จำกัด กับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด
น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่กขค. มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 อนุญาตให้ควบรวมบริษัท เทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซีพี รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นั้น ทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 83.97
ซึ่งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประการ ทั้ง วัตถุดิบ สินค้าเกษตร และสินค้าแปรรูป สินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ผอ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า ก่อนที่ กขค.จะอนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ ก็ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียตามที่ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 กำหนด ขั้นตอนการลงมติ ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ให้กรรมการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมธุรกิจ ได้มีสิทธิลงมติในการกำหนดเงื่อนไขทางโครงสร้างและเงื่อนไขทางพฤติกรรมสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้ 2 บริษัท เมื่อควบรวมธุรกิจแล้วมีอำนาจเหนือตลาดกว่าร้อยละ 80 มีการผูกขาดตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค
การไม่เปิดเผยรายชื่อคณะอนุกรรมการที่ทำการศึกษาและเสนอรายงานพร้อมความเห็นให้มีการอนุญาตควบรวม 2 บริษัทได้ ขัดพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพราะอนุกรรมการบางคนอาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด บริษัท ซีพีฯ มติเสียงข้างมากของ กขค. ขัดต่อเจตนารมณ์พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 ที่มุ่งป้องกันการผูกขาดทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ขัดกับประกาศของกขค.ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งในตลาดเกินร้อยละ 50 เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด แต่กลับอนุญาตให้ 2 บริษัทรวมธุรกิจ จนทำให้มีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าร้อยละ 80 ทำให้มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นมติ กขค. ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“มติกขค.ดังกล่าวนอกจากทำให้เกิดผลเสียกับประเทศอย่างร้ายแรง ยังจะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจภาพยนตร์ อาจขอรวมธุรกิจเข้าด้วยกัน จนมีอำนาจเหนือตลาดในกิจการนั้น และผูกขาดสินค้า หรือ บริการ จนก่อให้เกิดการกินรวบประเทศโดยนักลงทุนไทยหรือนักลงทุนต่างประเทศไทยได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก” ผอ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :