มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จับมือ อบจ.เชียงใหม่ นำชุดหลักสูตร“ดิจิทัลเพื่อชุมชนยั่งยืน” ปรับทักษะคนเชียงใหม่เข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัล นำร่องเปิดตัวโครงการร่วมกับแผนงานคนไทย 4.0 ฝึกอบรมมัคคุเทศก์สู่นักขายออนไลน์
วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา การพัฒนาบุคลากรและชุมชนในเขตพื้นที่ของอบจ.เชียงใหม่
สาระสำคัญคือ
1) ความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ให้กับนักเรียน บุคลากร และประชาชนในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ อบจ.เชียงใหม่ ภายใต้ชุดหลักสูตร"ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน" ของวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น ทักษะการใช้ดิจิทัลเพื่อการขายและการตลาดออนไลน์ ทักษะการใช้ดิจิทัลเพื่อการออกแบบ การผลิตสื่อดิจิทัล ทักษะการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อการเก็บข้อมูลและประมวลผลสำหรับงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทักษะการใช้ดิจิทัลเพื่อการสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวชุมชน และวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น
2) ความร่วมมือด้านการส่งเสริมสนับสนุนความเชื่อมโยง กิจกรรมการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดของ อบจ.เชียงใหม่กับต่างประเทศ และ
3) ส่งเสริมพัฒนาครู นักเรียน และบุคลากรให้มีทักษะการค้าและการตลาดข้ามพรมแดนด้วยวิธีการตลาดออนไลน์ให้กับชุมชนในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอบจ.เชียงใหม่ กับวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กับสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของประชาชน ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของอบจ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุดหลักสูตร “ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน”ที่จะเข้ามามีส่วนยกระดับทักษะดิจิทัลให้กับชาวเชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกันครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของทางวิทยาลัยฯ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่การยกระดับเชียงใหม่สู่จังหวัดเศรษฐกิจฐานดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ
ทางวิทยาลัยฯจึงมุ่งหมายนำองค์ความรู้ด้านดิจิทัลของคณาจารย์ นักวิจัยและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศของวิทยาลัยฯ เพื่อนำมาถ่ายทอด ฝึกอบรม ยกระดับทักษะเชิงดิจิทัลให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่ ให้มีความศักยภาพไปใช้สร้างอาชีพใหม่ๆในยุคหลังโควิด-19 ต่อไป
ในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แถลงข่าวการจัดกิจกรรมร่วมกับแผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อจัดการฝึกอบรมการพัฒนามัคคุเทศก์ภาษาต่างประเทศ ของชมรมมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงใหม่ สู่การเป็นนักขายออนไลน์ตลาดต่างประเทศ
โดย อ.ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าโครงการวิจัยภายใต้แผนงานคนไทย4.0 กล่าวว่า มัคคุเทศก์เป็นหนึ่งในอาชีพสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 การมองหาอาเชีพอื่น ๆ เพื่อทดแทนการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็น การพัฒนาไปสู่การเป็นนักขายออนไลน์ ทั้งในรูปแบบการเป็น Influencer และการขายสินค้าผ่านช่องทาง Live Streaming จึงเป็นนหนึ่งในสายอาชีพนักขายแนวใหม่ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด และเหมาะสมสำหรับมัคคุเทศก์ ที่มีจุดแข็งเดิมด้านทักษะภาษาต่างประเทศ
ทางวิทยาลัยฯ อบจ.เชียงใหม่ แผนงานคนไทย4.0 สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ชมรมมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ จึงร่วมมือกันจัดกิจกรรมการฝึกอบรม “มัคคุเทศก์สู่นักขายออนไลน์” จำนวน 3 รุ่น ๆ ละ 40 คน ในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน โดยทางวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี พร้อมที่จะร่วมกับ อบจ.เชียงใหม่ และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนหลักสูตรเพื่อสร้างทักษะใหม่ให้กับชาวเชียงใหม่ให้มีความพร้อมก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลต่อไป
ซึ่งปัจจุบันแม้ว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ แต่ความต้องการสินค้าจากประเทศไทยยังคงมีอยู่ และด้วยรูปแบบการขนส่งข้ามแดน สำหรับสินค้าจำหน่ายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สินค้าไทยยังคงจำหน่ายสู่ตลาดจีนและตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ได้ การพัฒนาทักษะนักขายออนไลน์ภาษาต่างประเทศจึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ “การสร้างผู้ประกอบการเชิงดิจิทัล เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนที่ยั่งยืน” ของวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อมุ่งสร้างทรัพยากรบุคคลที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง