รื้อใหญ่โอสถสภา หนุนมืออาชีพคุมธุรกิจ บอร์ดเคาะสัปดาห์หน้า

02 เม.ย. 2564 | 19:00 น.

ผ่าอาณาจักร “โอสถสภา” หลัง “เพชร-ครอบครัว” ลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 15.06% จับตาประชุมบอร์ดสัปดาห์หน้า รื้อใหญ่โครงสร้างบริหาร เพิ่มบทบาทมืออาชีพคุมธุรกิจ

เมื่อองค์กรขนาดใหญ่และมีอายุยาวนานถึง 130 ปีอย่างบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ขยับทำอะไร ย่อมเป็นที่จับตา และที่ยังเป็นประเด็นพูดถึงและคาดการณ์ไปต่างๆ นาๆ คือการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 คน ในกลุ่ม Orizon ได้แก่ Orizon Limited ซึ่งเป็นของครอบครัวโอสถานุเคราะห์ และนายเพชร โอสถานุเคราะห์ได้ขายหุ้นรวมกัน 381 ล้านหุ้น หรือ 12.69% ในราคาหุ้นละ 33 บาท ให้กับผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะเจาะจง ผ่านตลาดหลักทรัพย์(ตลท.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นของ Orizon Limited  261 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.69% และนายเพชร อีก 120 ล้านหุ้น หรือ 4.00% 

คนที่มารับซื้อหุ้นบางส่วน คือ นายนิติ โอสถานุเคราะห์ 215 ล้านหุ้น หรือ 7.2% และกลุ่มนักลงทุนอื่น 166 ล้านหุ้น หรือ 5.5% ของทุนจดทะเบียน ส่งผลให้นายนิติ โอสถานุเคราะห์ มีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจาก 16.65% เป็น 23.8% ขณะที่กลุ่ม Orizon ถือหุ้นลดลงจาก 27.75% เหลือเพียง 15.06%

การเปลี่ยนมือภายในตระกูลโอสถานุเคราะห์ จากปัจจุบันที่มีกลุ่ม Orizon ซึ่งเป็นกลุ่มนายเพชรและครอบครัวมาเป็นกลุ่มนายนิติโอสถา- นุเคราะห์ ซึ่งเป็นบุตรชายนายสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการ OSP และยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายเพชร ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีการคาดการณ์กันว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารตามมาด้วย โดยนายนิติ ซึ่งเดิมแม้จะเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 แต่นั่งเป็นกรรมการเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารแต่อย่างใด 


รื้อใหญ่โอสถสภา หนุนมืออาชีพคุมธุรกิจ บอร์ดเคาะสัปดาห์หน้า

ถกด่วนบอร์ดสัปดาห์หน้า

นายธนา ไชยประสิทธิ์ กรรมการบริหาร และรักษาการ CEO บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)หรือ OSP  หนึ่งในผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของตระกูลโอสถานุเคราะห์เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้จะมีการเปลี่ยนมือซื้อขายหุ้นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในการบริหาร โดยคณะผู้บริหารยังคงบริหารงานในตำแหน่งเดิมตามปกติ  เพราะยังคงปฏิบัติงานที่บ้านตามนโยบาย Work from home เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะผู้บริหาร ซึ่งเชื่อว่า จะมีการพูดคุยเรื่องนี้อีกครั้ง 

“ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังบริหารงานตามปกติ และยังไม่มีการประชุมใดๆ ต้องรอสักพัก ซึ่งจะมีการประชุมบอร์ดภายในสัปดาห์หน้า หากมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง”นายธนากล่าว

การลดสัดส่วนการถือหุ้นของนายเพชรและครอบครัวไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะหลังจากที่ OSP เสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่ราคาหุ้นละ 25 บาท สามารถระดมทุนได้ถึง 15,093.75 ล้านบาท เมื่อเข้าซื้อขายวันแรก 17 ตุลาคม 2561  มูลค่าหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตแคป) ณ ราคาไอพีโออยู่ที่ 75,094 ล้านบาท ราคาเปิดซื้อขายวันแรกเพิ่มขึ้นถึง 5.00 บาท และราคาหุ้นเคยปรับขึ้นสูงสุดถึง 48.25 บาท เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 และมาร์เก็ตแคป ล่าสุด ณ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 105,882.19 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 30,788.16 ล้านบาท  และมาร์เก็ตแคปเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 144,930.93 ล้านบาท

“เพชร”ลาCEO

กลางปีก่อน เมื่อ 29 มิถุนายน 2563  นายเพชรและครอบครอบครัวโอสถานุเคราะห์ ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง 3% ให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง โดยไม่ปรากฎราคาขาย ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงจาก 30.69% เหลือประมาณ 27.69% ซึ่งนายเพชร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร OSPแจ้งตลท.ว่า จะนำเงินไปใช้ด้านโครงการด้านศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษา เพื่อการสร้างรากฐานของประเทศ

“ทางครอบครัวมีโครงการต่างๆ ทีได้ไตร่ตรองมานานแล้วคือ โครงการด้านศิลปะวัฒนธรรม และด้านการศึกษา จึงต้องใช้งบประมาณสนับสนุนสูงเกินกว่าที่ครอบครัวเราจะทำได้ ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการลงทุน โดยการขายหุ้นบางส่วนในบริษัท”นายเพชรระบุ

การลดสัดส่วนการถือหุ้นครั้งนั้น พร้อมการยื่นหนังสือลาออกของนายเพชร จากปัญหาด้านสุขภาพ นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการครั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคม เพื่อเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้เกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ มีนายสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ นั่งเป็นประธานกรรมการ นายเพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นรองประธานกรรมการ นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร นายธนา ไชยประสิทธิ์ เป็นรักษาการ CEO และนายชัชรินทร์ โอสถานุเคราะห์ เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหาร

 

เชื่อบริหารเก่าสานต่อ  

ขณะที่ทีมผู้บริหารมืออาชีพยังคงนำ โดยนางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอสถสภา จำกัด อดีตลูกหม้อยูนิลีเวอร์ที่โยกมาร่วมงานกับโอสถสภานานกว่า 3 ปี และสร้างผลงานนำโอสถสภาเดินหน้าทำกำไรและเป็นผู้นำตลาด ครองส่วนแบ่งตลาดในหลากหลายธุรกิจทั้งเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล

การขายหุ้นบิ๊กล็อต 381 ล้านหุ้นของนายเพชรและครอบครัวครั้งนี้ ก็ได้รับการชี้แจงว่า บริษัทมีความสนใจที่จะอุทิศทรัพยากรของตนไปใช้ในโครงการอื่นๆ ซึ่งมุ่งหมายไปที่โครงการด้านศิลปะวัฒนธรรมและการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยวางรากฐานของวงการศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาของประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า จึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุน

อย่างไรก็ดี แม้บริษัทจะยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ จะไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท โครงสร้างการจัดการ และนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด บริษัทยังคงดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อขยายธุรกิจให้แข็งแกร่งและมั่นคงในประเทศไทยและในภูมิภาค สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

“คาดว่า หลังจากที่นายนิติ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในโอสถสภา จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คณะผู้บริหารนำโดยนางกรรณิกา จะยังคงนั่งบริหารเช่นเดิมภายใต้การสนับสนุนนายนิติอย่างเต็มที่”แหล่งข่าวระบุ 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

10 เรื่องน่ารู้ องค์กร 130 ปี “โอสถสภา”

เคลื่อนไหวแล้ว "เพชร โอสถานุเคราะห์" หลังทิ้งหุ้น OSP

'Orizon-เพชร โอสถานุเคราะห์’ ขายบิ๊กล็อต OSP รวม 1.2 หมื่นล้านบาท

OSP ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ไม่กระทบการดำเนินงาน

OSP บิ๊กล็อต 2.5 หมื่นล้านบาท