อัพเดท 4 เส้นทาง ส่วนต่อขยาย “รถไฟสายสีแดง” คืบหน้าถึงไหนแล้ว

06 เม.ย. 2564 | 14:20 น.

“คมนาคม” เร่งศึกษาแผนลงทุน 4 เส้นทาง บูมส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ดานรฟท.เล็งศึกษาพีพีพีคาดเปิดประมูลปี 67

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) โดยระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการสำคัญที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการรวม 8 โครงการ วงเงินกว่า 3.69 แสนล้านบาท ซึ่งมี 4 โครงการที่กระทรวงฯ มีนโยบายให้ลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายงานพีพีพี คือ โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงโดยแบ่งเป็น 1. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) วงเงินโครงการ 6.57 พันล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา) วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท 3.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช) วงเงิน 6.64 พันล้านบาท และ 4. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ - หัวหมาก) วงเงิน 4.41 หมื่นล้านบาท

 

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบพีพีพีในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่งผลให้ขณะนี้ รฟท.ต้องเริ่มดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม เพื่อจัดทำรายงานพีพีพี ปรับปรุงจากผลการศึกษาเดิมที่ รฟท.จะประมูลจัดหาเอกชนรับเหมางานโยธาเท่านั้น เบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดประมาณ 3 ปีแล้วเสร็จ เพื่อเริ่มกระบวนการประกวดราคาในปี 2567

 

เดิมโครงการส่วนต่อขยายนี้ การรถไฟฯ จะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาตามโครงการทั่วไปที่เคยทำ ก็ศึกษาโครงการและเสนอผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่เมื่อมีนโยบายให้ปรับรูปแบบศึกษาทำพีพีพี จึงต้องนำโครงการมาทบทวน เพื่อให้ได้ยอดเงินลงทุนที่ชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้จะมีแต่วงเงินค่าก่อสร้าง ตอนนี้ก็ต้องศึกษารวมไปถึงวงเงินค่าเดินรถ รูปแบบพีพีพีที่เหมาะสม ต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างละเอียด”

 

สำหรับโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เดิม รฟท.มีเป้าหมายเปิดประกวดราคาและเริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2564 รวม 3 สัญญา ประกอบด้วย ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา ส่วนโครงการช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ – หัวหมาก หรือที่เรียกว่า Missing Link เนื่องจากต้องใช้โครงสร้างทางร่วมกับรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน จึงเป็นโครงการที่ต้องเร่งหารือและแยกดำเนินการก่อสร้างงานโยธา

 

ทั้งนี้จากการปรับแผนพัฒนาโครงการในรูปแบบพีพีพีนั้น เบื้องต้นประเมินว่าจะทำให้โครงการล่าช้าออกไปราว 3 ปี เพราะต้องเริ่มกระบวนการศึกษารูปแบบร่วมลงทุน ส่วนช่วง Missing Link ขณะนี้ รฟท.ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) และเอกชนผู้รับสัมปทานไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เพื่อหาข้อสรุปในการลงทุนโครงสร้างทางร่วม โดยนโยบายของรัฐบาล ผู้รับเหมาโครงการที่ต้องเข้าพื้นที่ก่อนเป็นผู้ลงทุนเตรียมฐานรากไว้ให้โครงการอื่นด้วย เพราะการเดินหน้าก่อสร้างครั้งเดียว ย่อมดีกว่าสร้างหลายครั้ง ผลกระทบประชาชนในพื้นที่ก็จะน้อยกว่า ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการหารือว่าเอกชนโครงการไฮสปีดเทรนสามสนามบิน จะสามารถลงทุนงานโครงสร้างให้ก่อน และเมื่อได้เอกชนจากพีพีพีสายสีแดง ก็จะจ่ายชดเชยกันได้หรือไม่ หรือจะมีรูปแบบอื่นเหมาะสมกว่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง