เห็นชอบ กทม. ถอน พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินรอบหมอชิตเก่า

07 เม.ย. 2564 | 10:23 น.

ธนารักษ์ ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบให้ กทม. เดินหน้าถอน พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินรอบหมอชิตเก่า ลดผลกระทบชาวบ้าน พร้อมเร่ง บขส. สรุปข้อมูลรถเข้าพื้นที่ให้เสร็จภายใน 1 เดือน

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต หรือหมอชิตคอมเพล็กซ์ ล่าสุดได้ประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางบก และบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) โดยได้เห็นชอบร่วมกันที่จะให้กรุงเทพมหานคร ยกเลิกการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบริเวณพื้นที่โดยรอบในการสร้างทางยกระดับเข้าออกจากโครงการฯ  เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

 

โดย บขส. จะเร่งสำรวจว่าควรมีรถประเภทใด จำนวนเท่าไร ที่จะเข้ามาใช้พื้นที่หมอชิตคอมเพล็กซ์ โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ กทม.ไปใช้ประกอบการเสนอขอ ถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 5 ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต (เก่า) รวมถึงให้นำข้อมูลเสนอไปยัง สนข. เพื่อพิจารณาจัดระเบียบจราจรในพื้นที่ใหม่ รวมทั้งเสนอให้บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (บีเคที) ผู้ได้สิทธิพัฒนาหมอชิตคอมเพล็กซ์ ได้รับทราบและนำไปใช้ปรับปรุงแบบการใช้พื้นที่บางส่วนต่อไปได้

 

“ตามขั้นตอนการขอถอนพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน จะต้องมีการจัดทำข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลประกอบขอการยกเลิก ดังนั้นที่ประชุมจึงให้ บขส.ไปเร่งสำรวจข้อมูลปริมาณรถที่จะนำเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ต้องเวนคืนให้เสร็จภายใน 1 เดือน และนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุมใหม่อีกครั้งในเดือน พ.ค. นี้ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างภาคเอกชน กทม. กรมการขนส่งทางบก บขส. เพื่อหาข้อมูล และนำส่งให้ กทม.ไปใช้ประกอบการยกเลิกเวนคืนที่ดินต่อไป” นายยุทธนา กล่าว 

ยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์

โดยนายยุทธนา กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด ได้ยื่นศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในโครงการโดยไม่ต้องมีการเวนคืนไปแล้ว และจะใช้เวลาพิจารณาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่การใช้ประโยชน์พื้นที่ชดเชย 1.1 แสนตารางเมตร ทางกรมการขนส่งทางบกยืนยันที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์เหมือนเดิมแต่อาจปรับรูปแบบให้ย้ายมาบางส่วน เช่น รถขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจร และการเวนคืนที่ดิน ซึ่งกรมฯมั่นใจว่าโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ที่ล่าช้ามา 24 ปีจะได้ข้อยุติ และเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ ซึ่งหากโครงการเกิดได้จะทำให้เกิดการลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท มีการจ้างงานหลายอัตรา เกิดศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และยังทำให้กรมฯ มีรายได้นำส่งเข้าคลังเพิ่มขึ้นกว่า 1,200 ล้านบาท