ธุรกิจครอบครัวอาจเป็นตัวแทนของระบบทุนนิยมทั้งในรูปแบบที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด เนื่องจากครอบครัวสร้างและพยายามดูแลธุรกิจของตัวเองให้ยั่งยืน เป็นการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปด้วยกันเป็นครอบครัว ขณะที่อีกด้านหนึ่งที่เลวร้ายที่สุด คือธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นจุดที่สร้างความขัดแย้งที่ทำลายความมั่งคั่ง งานและความสัมพันธ์ในครอบครัวของตนได้
ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากจึงจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการสร้างองค์กรที่มีสุขภาพดีและยั่งยืน ซึ่งอาจหมายถึงโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสมหรือธรรมนูญครอบครัวอันจะเป็นแนวทางแก่คนรุ่นต่อไป
อย่างไรก็ตามแม้สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยได้ แต่สิ่งเหล่านี้เพียงอย่างเดียวไม่ใช่เคล็ดลับในการสร้างธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน หากแต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จยาวนาน คือวัฒนธรรมที่ช่วยให้ธุรกิจ เจ้าของและครอบครัวมีพัฒนาการและเติบโตไปด้วยกันตลอดเวลา สิ่งนี้เรียกว่า “วัฒนธรรมความต่อเนื่อง” (culture of continuity) ซึ่งสร้างขึ้นจากคุณลักษณะ 3 ประการดังนี้
ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) : มักถูกนำมาใช้โดยผู้นำที่มีลักษณะเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้นำเหล่านี้มักถามคำถามที่ดีและมักจะสำรวจว่าคนอื่นกำลังทำอะไรและมองหาแนวคิด พฤติกรรมและแนวทางใหม่ ๆ อยู่เสมอ แนวทางในการส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็น คือการเรียนรู้โดย การพูดคุยกับธุรกิจครอบครัวอื่น ๆ และแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้กับคนอื่น ๆ ในครอบครัว
ประกอบกับการพูดคุยกันในครอบครัว ให้ถามคำถามและสำรวจทางเลือกต่างๆแทนที่จะให้แต่คำตอบ วิธีนี้จะกระตุ้นให้ผู้อื่นได้ใช้ความคิดลดการตอบโต้ที่อาจลุกลามจนทำให้ขัดแย้งกัน
การทำงานเป็นทีม (Teamwork) : การทำให้ธุรกิจครอบครัวดำเนินงานได้ดีต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไป ธุรกิจครอบครัวต้องการให้มีการทำงานร่วมกันนอกเหนือไปจากความเป็นเลิศของแต่ละบุคคล เนื่องจากการตัดสินใจที่สำคัญแทบทั้งหมดจำเป็นต้องมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
อีกทั้งต้องมีการตัดสินใจที่ยากลำบากและประนีประนอมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแนวทางในการส่งเสริมการทำงานเป็นทีมควรจะพิจารณาว่าครอบครัวกำลังทำสิ่งที่จำเป็นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของหรือไม่ เช่น จำเป็นต้องปรับปรุงข้อตกลงผู้ถือหุ้นหรือไม่ เป้าหมายของเจ้าของมีความชัดเจนหรือไม่ /มีความชัดเจนหรือไม่ว่าการตัดสินใจใดที่เจ้าของต้องการทำเอง
และการตัดสินใจใดที่เจ้าของเต็มใจที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่น และเมื่อมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัว ควรจัดตั้งคณะทำงานที่มาจากหลายแผนก หลายรุ่นเพื่อพัฒนาทางเลือกต่างๆ
ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) : ธุรกิจครอบครัวต้องยอมรับความท้าทายที่เข้ามาและพร้อมที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเสมอ และตระหนักว่าแม้บางสิ่งที่เคยดีในตอนนี้อาจจะไม่ได้หมายความว่าจะดีในอนาคต ซึ่งแนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวได้แก่ การหารือกันถึงอนาคต วิธีการดำเนินงานต่างๆ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการสอบถามสมาชิกรุ่นต่อไปว่าการเปลี่ยนแปลงใดที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวน่าสนใจมากขึ้นสำหรับพวกเขา
วัฒนธรรมนั้นไม่ได้สร้างขึ้นได้ภายในชั่วข้ามคืนและอาจเป็นความท้าทายในการรักษาให้คงอยู่ยาวนาน แต่ความมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมการอยากรู้อยากเห็น การทำงานเป็นทีมและความสามารถในการปรับตัวจะช่วยให้ครอบครัวเติบโตข้ามกาลเวลาได้ ซึ่งจะเห็นได้จากธุรกิจครอบครัวที่สามารถส่งผ่านกันได้หลายชั่วอายุคน
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :