ถือเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้พิพากษาระดับ “อธิบดี” ยื่นฟ้องกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นจำเลย
ผู้ที่ตกเป็นจำเลยก็คือ สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. โดยเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญา ในข้อหาดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี ต่อศาลจังหวัดสระบุรี ตามคำฟ้องระบุว่า
ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีอำนาจหน้าที่ในการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีหรือทำความเห็นแย้งในคดี รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา จัดวางระเบียบและการดำเนินการส่วนธุรการของศาล และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี
ในขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. และจำเลยยังอยู่ในฐานะจำเลยที่ 2 คดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 หมายเลขดำที่ อท.84/2563 ระหว่างนายประหยัด พวงจำปา โจทก์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่ 1, นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ที่ 2, นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ที่ 3 จำเลย
นอกจากนี้จำเลยยังอยู่ในฐานะจำเลยในคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 หมายเลขดำที่ อท.64/2563 ระหว่างนายประหยัด พวงจำปา โจทก์ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ จำเลย
วันที่ 23 มี.ค. 2564 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา โดยจำเลยจัดทำและยื่นคำร้องขอโอนสำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในคดีหมายเลข ดำที่ อท.84/2563 ระหว่าง นายประหยัด พวงจำปา โจทก์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่ 1 นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ที่ 2 นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ที่ 3 จำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1
โดยมีข้อความอันเป็นการดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยามโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ทำให้โจทก์ ได้รับความอับอาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งยังเป็นการลดคุณค่าและทำลายการใช้ความเด็ดขาด ในการรักษาความยุติธรรมของศาล และทำลายชื่อเสียงของศาล หรือผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการพิจารณา โดยดูหมิ่นโจทก์ว่า โจทก์แทรกแซงการพิจารณาคดี และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นการปฏิบัติตามปกติในกระบวนพิจารณา หากให้มีการพิจารณาคดีต่อไปในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 นั้น จำเลยอาจไม่รับความยุติธรรม
โจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในการพิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท.85/2563 นั้น มีประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีอื่นๆ มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีภาษี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 3 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 และเคยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ให้เป็นอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
จึงตระหนักดีว่าการทำหน้าที่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมนั้น ต้องมีความเป็นอิสระ ในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งผู้พิพากษาและผู้บริหารในศาลต่างๆ ต้องให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชน ตลอดจนผู้พิพากษา และข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ใต้บังคับบัญชาในศาล ด้วยความเมตตาเอื้อเฟื้อ เพื่อให้การบริหารคดี และการบริหารงานต่างๆ ในศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ และผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี หมายเลขดำที่ อท.84/2563 ดังกล่าวเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการเพื่อประสาทความยุติธรรมให้กับคู่ความทุกฝ่ายในคดี รวมทั้งจำเลยด้วย ซึ่งโจทก์ต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากการก้าวก่ายหรือแทรกแซงโดยบุคคล หรือองค์กรใด รวมทั้งผู้บริหารในศาลยุติธรรมด้วยเช่นกัน
มิฉะนั้นแล้วผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดี จะเกิดความหวั่นไหวจากการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี อันจะเกิดผลกระทบต่อความยุติธรรม และประชาชนทั่วไป รวมทั้งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดรวมทั้งจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกฎหมายต่อไปได้ โดยคู่ความและประชาชนต้องให้ความเคารพ ศรัทธาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อย่างแท้จริง
การกระทำของจำเลยในการยื่นคำร้องขอโอนคดี โดยระบุข้อความต่างๆ ดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นการดูหมิ่นโจทก์และ/หรือศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี และเป็น การใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ว่ามีการแทรกแซงการพิจารณาคดีโดยโจทก์ และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นการปฏิบัติตามปกติในกระบวนพิจารณา หากให้มีการพิจารณาคดีต่อไปในศาลอาญาคดีทุจริตฯ จำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมนั้น เป็นการทำลายความเชื่อถือ และความเด็ดขาดในการใช้อำนาจรัฐในการรักษาความยุติธรรมของศาล รวมทั้งเป็นการลดคุณค่าและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี
ทั้งที่ความจริงโจทก์ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และกระทำการไปเพื่อประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและนิติประเพณี โดยยึดมั่นในความเป็นอิสระของ ผู้พิพากษาแต่ละท่าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี และเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่
การกระทำความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี
คดีนี้จะ “จบ” ลงอย่างไร น่าสนใจยิ่ง...
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,672 หน้า 10 วันที่ 22 - 24 เมษายน 2564