“เลือกตั้งเทศบาล” ยังไม่จบ  “อบต.-ผู้ว่าฯกทม.” ยาวไป

29 เม.ย. 2564 | 11:15 น.

“เลือกตั้งเทศบาล” ยังไม่จบ  “อบต.-ผู้ว่าฯกทม.” ยาวไป : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3675 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 2-5 พ.ค.2564 โดย... ว.เชิงดอย

+++ อ่าว...คิดว่า “การเลือกตั้งเทศบาล” จะจบลงไปแล้ว เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับรอง “นายกเทศมนตรี” และ “สมาชิกสภาเทศบาล” ครบทั้ง 76 จังหวัดไปเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา หลังจากรับรองลอตสุดท้ายเพิ่มอีก 23 จังหวัด จนครบหมด แต่แล้วยังไม่จบลงง่ายๆ เสียทั้งหมด เมื่อ กกต.มีมติเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมาสั่งให้ลงคะแนนเลือกตั้งเทศบาลใหม่ใน 37 จังหวัด ในวันที 16 พ.ค.นี้ และใหม่อีกใน 5 จังหวัด โดยการสั่งให้ลงคะแนนใหม่ เป็นไป ตามมาตรา 104  พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  เนื่องจากพบบัตรเลือกตั้งปลอมใน  1 จังหวัด  1 หน่วยเลือกตั้ง คือ กระบี่ 

+++   ส่วนการ “ลงคะแนนใหม่” เป็นไปตามมาตรา 105  วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากจำนวนคนมาใช้สิทธิไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป หรือ “บัตรเขย่ง” จำนวน   37  จังหวัด 76 หน่วยเลือกตั้ง  ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พิจิตร ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บึงกาฬ เลย สกลนคร หนองคาย อุดรธานี  บุรีรัมย์  สุรินทร์ นครราชสีมา ชลบุรี ลพบุรี  นครสวรรค์ ระยอง  สระบุรี ชัยนาท ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี เพชรบุรี กาญจนบุรี นนทบุรี  ตรัง สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช นราธิวาส  กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ และ ปทุมธานี   โดยกำหนดให้ลงคะแนนใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ค.นี้

+++ ขณะเดียวกัน ยังสั่งให้มีการ “นับคะแนนใหม่” ตามมาตรา 106 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  เนื่องจากมีคนร้องเรียนโดยมีหลักฐานว่า การนับคะแนนไม่ได้เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  จำนวน 5 จังหวัด 5 หน่วยเลือกตั้ง  ได้แก่ เชียงราย ตราด สระบุรี  นครศรีธรรมราช และ พัทลุง โดยให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นผู้กำหนดวันนับคะแนนใหม่ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 16 พ.ค.เช่นกัน

+++ เมื่อการ “เลือกตั้งเทศบาล” ยังไม่สะเด็ดน้ำทั้งหมด แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อการ “เลือกตั้ง อบต.” หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล ที่จะเป็นคิวถัดไปและลามไปถึงการ “เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานรค” หรือ “ผู้ว่าฯ กทม.” ที่จะ “ยืดเวลา” ออกไปอีกได้

+++ ก่อนหน้านี้ พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย วิเคราะห์เอาไว้ถึงการ “เลือกตั้ง อบต.” ว่า ไม่ต้องถามอีกแล้วนะครับว่า 27 มิ.ย.นี้ จะมีเลือกตั้งอบต.ตามกำหนดเดิมมั้ย : ไม่มีอยู่แล้วเพราะ 1.มหาดไทย กับ กกต.ยังไม่ได้คุยกัน 2.ครม.ยังไม่มีมติ เพราะภายในครม.ก็สาหัส รมต.ติดโควิดหลายคน นายกฯ และรมว.มหาดไทย คงวุ่นอยู่กับการรับมือการระบาดของเชื้อบ้าโควิด-19 คงไม่มีกะจิตกะใจจะไปดำเนินการเรื่องอื่น 3.กกต.ก็ประสบปัญหาวิกฤติหนัก ทั้งเรื่องร้องเรียนของเทศบาลที่ยังไม่สามารถเคลียร์ให้จบในเวลาอันสั้น ซ้ำร้ายมาเจอเลขาธิการ กกต.ติดโควิด สุ่มเสี่ยงทั้ง กกต. ทั้งเจ้าหน้าที่...จนจิตใจว้าวุ่นไปทั่ว 4.ปัญหาการแต่งตั้งกกต.ประจำอบต.ยังไม่ลงตัวในหลายพื้นที่เพราะมีการแก้ไข หรือ เปลี่ยนตัว 5.ระยะเวลาที่กระชั้น เนื่องจากหยุดยาวสงกรานต์ “สุดท้ายแล้ว เลื่อนนะเลื่อนแน่นอน แต่จะไปลงห้วงเวลาไหนนั้น เชื่อว่าวันนี้ ทั้ง กกต. และ มหาดไทย ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะตัวแปรสำคัญคือ ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ยังไม่มีท่าทีจะเบาบางลงแต่อย่างใด จึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการนำมาประกอบการตัดสินใจกำหนดวันเลือกตั้ง อบต.” 

+++ สำหรับขั้นตอนก่อนที่จะนำไปสู่การ “เลือกตั้ง อบต.” ได้นั้น พนมวัสส์ วุฒาพาณิชย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ แต่ขั้นตอนก่อนจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง อบต. เป็นดังนี้  1.ต้องมีการประชุมเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยก่อน โดยมีผู้แทนของ กกต.และผู้แทนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในการประชุม 2.เมื่อมีการประชุมเรียบร้อยแล้วจะนำเรียนเสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบก่อน 3.ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบก็จะส่งให้ ครม.พิจารณา 4.เมื่อครม.เห็นชอบก็จะส่งต่อไปที่ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเตรียมประกาศให้มีการเลือกตั้ง 5.ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งจะใช้อำนาจตามมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ประกาศให้มีการเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. จะต้องพ้นตำแหน่งตั้งแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง

+++ เมื่อการ “เลือกตั้ง อบต.” ต้องเลื่อนเวลาออกจากที่ควรจะเป็น การ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ มีแนวโน้มสูงที่จะทอดยาวไปถึงปี 2565 ส่วนจะเป็นช่วง “ต้นปี” หรือ “กลางปี” ต้องรอดูสัญญาณการสั่งให้มีการ “เลือกตั้ง อบต.” จากที่ประชุม ครม.ก่อนว่าจะให้ดำเนินการาเลือกตั้งได้เมื่อใด

+++ ไปปิดท้ายกันเกี่ยวกับเรื่อง “ไวรัสโควิด-19” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ที่ทวีความรุนแรงขึ้น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวัน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงเชิญชวนประชาชนเตรียมความพร้อมต่อภาวะวิกฤต ด้วยการพึ่งพาตนเอง และทำร่างกายให้ตัวเองแข็งแรงอยู่เสมอ จึงได้ออกคู่มือการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้เข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง ทั้งของตนเองและครอบครัว เนื่องจากทุกคนก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อดังกล่าวได้ตลอดเวลา หากไม่ระมัดระวัง ในอนาคตหากเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง อาจจะมีความจำเป็นต้องแยกผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย มากักตัวเองที่บ้าน และรักษาตนเอง เนื่องจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 กว่าร้อยละ 80 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ดังนั้น การเตรียมความพร้อมต่อความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

+++ โดยคู่มือดังกล่าว “รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ได้แนะนำให้ใช้ยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการทางเดินหายใจ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง มะขามป้อม หรือแม่กระทั่งพืชผักสวนครัวอย่าง มะนาว ขิง ขมิ้นชัน ที่สามารถนำมาจัดเตรียมเป็นยาในรูปแบบง่ายๆ ซึ่งควรจะจัดเตรียมไว้ในรูปของกล่องยาสมุนไพรประจำบ้าน ที่ต้องมีการเตรียมจัดหาไว้ เพราะหากเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ ก็จะได้ใช้ได้ทันที ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1penuIdr396i5fn2bkNtOBE2ARQfNAWbG/view?fbclid=IwAR1jxqf-MS3KbDINIfPmgYIBZ_5onkgjIRiGXHv5AYqJquQG6ti_sHcXfkE

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :