AIS เดินหน้ากระตุ้นค้าปลีกเปิดตัว V-Avenue.Co ศูนย์การค้าบนโลกเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี 5G Virtual Reality ตั้งเป้าผู้ร่วมงานกว่าล้านคน ด้าน TikTok เผย 3 เทรนด์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง หนุน SMEs สายบิวตี้แฟชั่นโตสวนกระแสโควิด
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า วิถีการใช้ชีวิตแบบ New Normal ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยี 5G และ Virtual Reality (VR) เป็นกลไกสำคัญที่เข้ามา มีบทบาทกับอุตสาหกรรมหลัก โดยคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี VR และ AR จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลก ภายในปี 2573 เติบโตถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 45 ล้านล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานทั่วโลกกว่า 23 ล้านตำแหน่ง เอไอเอสต้องการส่งเสริมการเข้าถึงร้านค้าให้กับธุรกิจ สร้างการเชื่อมต่อของร้านค้ากับผู้บริโภคภายใต้แพลตฟอร์ม V-Avenue.Co ซึ่งเป็น Virtual Avenue แห่งแรกของโลก เผื่อผลักดันอุตสาห กรรมค้าปลีกกระตุ้นและพลิกฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาด
“สำหรับแพลตฟอร์ม V-Avenue.Co ไม่ได้หวังที่จะสร้างรายได้หรือกำไรจึงไม่ได้มีการเรียกเก็บส่วนแบ่งหรือ GP กับ SMEs หรือธุรกิจ โดยเป้าหมายของ V-Avenue.Co คือการนำสินค้าและบริการของพันธมิตรหรือธุรกิจไปสู่ลูกค้าของเอไอเอสที่มีกว่า 42 ล้านเลขหมายโดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านราย เหมือนกับงาน Mobile Virtual Expo ที่เอไอเอสได้จัดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานคาดว่าจะเป็นกลุ่ม Early Adopters ทั้งนี้ปัจจุบัน V- Avenue.Co มีธุรกิจ SMEs ที่เข้าร่วมกว่า 200 ราย บนแพลตฟอร์มทั้งธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ของหวาน แอคเซสเซอรี่ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และงานฝีมือต่างๆ ที่ผู้ซื้อสามารถเข้าชมได้ผ่านรูปแบบ เว็บไซต์ปกติหรือเชื่อมต่อผ่านแว่น VR”
ด้านนางสาวสิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing ของ TikTok เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมกลุ่มธุรกิจ SMEs และ MSMEs เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศไทย โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า SMES ไทยมีกว่า 3.1 ล้านราย หรือมูลค่าราว 5.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34% ของ GDP ประเทศ ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างมาก เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่าธุรกิจกลุ่มบิวตี้และแฟชั่น มีมูลค่าตลาดกว่า 7 แสนล้านบาท โดยมีมาร์เก็ตแชร์ 26.54% ของอี-คอมเมิร์ซและเติบโต 33% ต่อปี เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่ตลาดของวิดีโอสั้นพบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภค 55% มีการรับชมวิดีโอทุกวัน โดย 90% ของคนไทยชอบที่จะดูวิดีโอสั้นและ 72% มีการเรียนรู้เกี่ยวกับฅผลิตภัณฑ์และบริการผ่านทางวิดีโอ
นอกจากนี้การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย Discovery Platform หรือการที่แบรนด์ค้นหาลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มขึ้น 53% และการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านการค้นหาด้วยตัวเองลดลงเหลือ 35% ขณะที่ 92% ของผู้ซื้อเชื่อถืออินฟลูเอนเซอร์มากกว่าโฆษณาแบบดั้งเดิม และ 49% มีการซื้อสินค้าจากการแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งนี้ 3 เทรนด์การตลาดดิจิทัลที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน คือ Short Video Marketing, Discovery Platform Marketing และ Influencer Marketing ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเพื่อเป็นแนวทางในการปรับกลยุทธ์ธุรกิจในการช่วงชิงโอกาสท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,676 หน้า 16 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2564