‘เขียง’ ลุยเดลิเวอรี่ ดันรายได้300 ล้านบาท

14 พ.ค. 2564 | 03:03 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2564 | 10:09 น.

‘เขียง’ ยกเครื่องเดลิเวรี่รุกตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่มูลค่า 74,000 ล้านบาท คาดอานิสงค์โควิดระลอก3 ดันยอดขายทะลุ 300ล้านบาท เติบโต 40 %

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN  ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยว่า การก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 สำหรับ ‘เขียง’ แบรนด์ร้านอาหารสไตล์สตรีทฟู้ด ภายใต้ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเนื่องการปรับกลยุทธ์การตลาด 

ทั้งในด้านการนำเสนอเมนูอาหารที่มีเอกลักษณ์ การบริการเดลิเวอรี่และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าทุกที่และทุกเวลา รวมถึงการขับเคลื่อนโมเดลแฟรนไชส์ในการขยายสาขา ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเกิดการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 

‘เขียง’ ลุยเดลิเวอรี่ ดันรายได้300 ล้านบาท

ในปี 2564 เขียงมีการขยายสาขาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมีจำนวนทั้งสิ้น 140 สาขา จากปัจจุบันที่มี 83 สาขา แบ่งเป็น การลงทุนเอง 20 สาขา และแฟรนไชส์ 63 สาขา ปัจจัยที่ทำให้เขียงประสบความสำเร็จในการขยายสาขา 

เนื่องจากโมเดลแฟรนไชส์เขียงมีหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ทั้งโมเดลรถเข็น,ตลาด,ปั้มน้ำมัน ,ตึกแถว และอาคารสำนักงาน รวมถึงการวางงบลงทุนที่เหมาะสมในแต่ละโมเดล โดยเป็นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (แรกเข้า) ระยะ 6 ปี 600,000 บาท  ค่ารอยัลตี้ฟีและมาร์เก็ตติ้งฟี 15,000 บาทต่อเดือน และงบลงทุนก่อสร้าง 1-2 ล้านบาท ซึ่งสามารถถึงจุดคุ้มทุนภายในระยะเวลา 2-3 ปี จึงทำให้แฟรนไชส์เขียงได้รับความสนใจจากผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก  

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์การตลาดการบริการเดลิเวอรี่ แพลตฟอร์มออนไลน์ พัฒนาแอปพลิเคชั่น การนำเสนอเมนูอาหารจานเดียวที่หลากหลาย รวมทั้งการนำบรรจุภัณฑ์ที่สะดวก สะอาด ปลอดภัย ย่อยสลายได้ ให้บริการทั้งเดลิเวอรี่และซื้อกลับบ้าน (Take Home) รับกับตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในปีนี้คาดว่ามีมูลค่า 74,000 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วจากเมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่า 68,000 ล้านบาท 

เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงหันมาสั่งอาหารรับประทานแทนการนั่งกินที่ร้าน ส่งผลให้รายได้เดลิเวอรี่ของเขียง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% ส่วนรูปแบบนั่งกินในร้านจาก 40% เป็น 30%   

 

และในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 3 เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ เขียง อยู่ระหว่างการพิจารณาโลเคชั่นที่มีศักยภาพสำหรับเปิดให้บริการเดลิเวอรี่และซื้อกลับบ้านเพิ่มเติม รองรับกับการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ระลอกใหม่ โดยคาดว่ารายได้เดลิเวอรี่จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 80% และรูปแบบนั่งกินในร้านมีสัดส่วน 20% 

นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดเมนูอาหารไทย ที่มีสมุนไพรมีสรรพคุณทางยา ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและต่อต้านเชื้อไวรัส อาทิ เช่น ไก่ผัดพริกขิง และไข่เจียวหอมใหญ่ อย่างไรก็ดีมั่นใจว่า เมื่อการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 คลี่คลาย ไลฟ์สไตล์การนั่งกินที่ร้านจะค่อยๆ กลับมาเหมือนเดิม  

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เขียงเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราได้ปรับกลยุทธ์ตลาดให้ทันกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าการแพร่ระบาดระลอกนี้ ด้วยโมเดลธุรกิจที่วางไว้ ยอดขายเขียงจะมีอัตราเติบโตดีกว่าเป้าหมายในช่วงที่มีการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

ซึ่งการเติบโตมาจากยอดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นและยังมีผู้สนใจลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเป็นโมเดลธุรกิจที่ยังคงสามารถทำรายได้และกำไรได้ในสถานการณ์เช่นนี้ และวางเป้าหมายรายได้สิ้นปีของเขียงทะลุ 300 ล้านบาท เติบโต 40% ”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: