Backward Thinking ของ Millennials    

19 พ.ค. 2564 | 12:12 น.

บิสิเนส แบ็กสเตจ รศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล  คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  [email protected]

หากพิจารณาถึงความต่อเนื่องของธุรกิจครอบครัวแล้วคงหนีไม่พ้นภารกิจในการสืบทอดกิจการ ซึ่งโดยทั่วไปครอบครัวเข้าใจถึงความสำคัญของการเริ่มต้นกระบวนการวางแผนสืบทอดกิจการแต่เนิ่นๆและมองว่าแผนการสืบทอดกิจการที่ดีเป็นขั้นตอนแรกในการรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจและความมั่งคั่งของครอบครัวสำหรับคนรุ่นต่อไป

อย่างไรก็ตามแม้มีแผนสืบทอดกิจการแล้ว ก็ยังมีคำถามว่าผู้นำครอบครัวจะตัดสินใจอย่างไรว่าเมื่อใดถึงเวลาเหมาะสมที่จะเกษียณการทำงานอย่างเต็มตัวหรือแค่บางส่วน หรือยังรับบทบาทใหม่ในธุรกิจครอบครัวต่อไป 

ทั้งนี้จาก The STEP 2019 Global Family Business Survey ซึ่งทำการสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัวกว่า 1,800 รายจาก 33 ประเทศทั่วโลกพบว่า 53 % ของผู้นำธุรกิจครอบครัวไม่มีแผนเกษียณการทำงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งนั่นทำให้เกิดความไม่แน่นอนสำหรับผู้สืบทอดและอนาคตของธุรกิจครอบครัว และงานวิจัยยังชี้ว่าสำหรับผู้ที่มีแผนการเกษียณแล้ว 

พบว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวที่มีวัตถุประสงค์หลักคือมีชีวิตที่มีความสุขและมีความมั่นคงทางการเงินเป็นแผนครอบครัวมักจะเกษียณจากการบริหารธุรกิจอย่างเต็มตัว และบางคนถึงกับคิดจะขายธุรกิจของตนทันที  ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดแบบเดิมที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวแทบจะไม่ทิ้งธุรกิจของตนเพราะพวกเขาได้รับการเติมเต็มและอัตลักษณ์บุคคลอย่างมากจากธุรกิจนี้

คนที่จะสามารถเกษียณจากธุรกิจครอบครัวจึงต้องคิดแบบ Backward Thinking คือวางแผนเกษียณตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานในธุรกิจของครอบครัว การมองเห็นตัวเองในวันที่พร้อมเกษียณเป็นจุดเริ่มต้นของการมีเป้าหมายร่วมกันระหว่างบริษัท ครอบครัว และตัวเราเอง

งานวิจัยพบว่าผู้นำที่ยังคงหลงใหลในงานของตนแทบจะไม่คิดถึงการเกษียณเลยและยังคงมองหาทางเลือกอื่นในการมีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวต่อไป บางคนไม่ได้กำหนดอายุในแผนเกษียณหรือยังคงมีส่วนร่วมบางส่วนในธุรกิจโดยการเป็นคณะกรรมการบริษัทหรือบทบาทที่ปรึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังเกี่ยวกับบทบาทที่ปรึกษาคือ ในบางกรณีแม้ว่าพ่อแม่จะอ้างว่าตนเป็นที่ปรึกษาและคิดว่ามีส่วนร่วมในธุรกิจเพียงเล็กน้อย 

Backward Thinking ของ Millennials    

แต่ผู้สืบทอดรุ่นต่อไปอาจไม่คิดเช่นนั้น พวกเขาอาจมองว่าพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อควบคุมพฤติกรรมและไม่ไว้วางใจในความสามารถของลูกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการที่คนรุ่นเก่าไม่เต็มใจที่จะเกษียณด้วยการไม่ยอมวางมือจากบริษัทอย่างเต็มตัว มักจะทำให้ยากที่จะมอบอำนาจอย่างแท้จริงให้กับผู้นำคนต่อไปและเป็นการยากสำหรับผู้นำใหม่ที่จะหลบหนีจากเงาของคนรุ่นก่อน หรือการขาดอิสระในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ก็อาจทำให้กังวลว่าจะไม่สามารถหลบหนีจากเงาของพ่อแม่ได้
 

ขณะที่เมื่อพิจารณาแผนการเกษียณของผู้นำรุ่นมิลเลนเนียล อาจพบลักษณะการเกษียณที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่มีการศึกษาและมีแรงจูงใจสูงในการทำธุรกิจ ซึ่งพวกเขาอาจไม่ใช่ผู้นำในลักษณะเดียวกับคนรุ่นเก่า พวกเขาเน้นไปที่การสร้างสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวมากขึ้น และวางแผนที่จะเกษียณการทำงานก่อนวันเกิดครบรอบ 50 ปีไม่ใช่ 70 ปี 80 ปี หรือ 90 ปีเหมือนคนรุ่นเก่า  

โดย Jose’ Manuel Suso Dominguez ซีอีโอของ Arrocera la Esmeralda ประเทศโคลอมเบีย แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า “เขาจะไม่ทำงานจนอายุ 90 ปีเหมือนพ่อ เขาคิดถึงการทำและการเปิดใจต่อสิ่งอื่นๆ การลงทุนอื่นๆ เพราะการอยู่ในบริษัททั้งวันไม่ได้ทำให้เห็นโลกภายนอก เราต้องออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทอื่น ๆบ้าง ควรปล่อยให้คนรุ่นใหม่ทำงานที่บริษัทไป เพราะพวกเขาก็ทำได้ดีมากเช่นกัน” 

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบเจ้าของธุรกิจครอบครัวอายุ 33 ปีที่คิดจะเกษียณการทำงานแล้ว ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอายุของเขา แต่ด้วยเหตุผลความเครียดที่ต้องเจอในการทำงานและความต้องการที่จะไล่ตามความฝันส่วนตัวจึงต้องออกไปจากธุรกิจ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงความเป็นผู้นำในอนาคตของธุรกิจครอบครัว

จะเห็นว่าการทำความเข้าใจในการหาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้นำรุ่นใหม่มีความสำคัญพอ ๆ กับความต้องการและความคาดหวังของพวกเขา ผู้นำรุ่นมิลเลนเนียลจึงมักมี Backward Thinking ด้วยการวางแผนที่จะเกษียณการทำงานเร็วกว่าคนรุ่นก่อนและคิดไว้ตั้งแต่เริ่มงานกับธุรกิจของครอบครัวตนเอง 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :