“ระนอง”เสนอ253โครงการ541.7ล้าน ขับเคลื่อน“ไทยไปด้วยกัน”ฝ่าโควิด-19

30 พ.ค. 2564 | 03:20 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2564 | 10:22 น.

“ระนอง” เสนอ 253 โครงการ วงเงิน 541.7 ล้านบาท ขอขับเคลื่อน “ไทยไปด้วยกัน” ระดับพื้นที่จังหวัด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงเศรษฐกิจฐานรากของระนอง ให้ก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19  

นายสมเกียรติ  ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแผนงาน โครงการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากผ่านระบบวิดิทัศน์ทางไกล ณ ห้องประชุมพลับพลึงธาร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดระนอง เพื่อดำเนินการกลไกในการนำเสนอและพิจารณาโครงการ  ลักษณะโครงการ และจัดทำบัญชีข้อสรุปข้อเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแรงของเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดระนอง  

 

นายสมเกียรติ  ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง

ลักษณะของโครงการหรือกิจกรรม ประกอบด้วยพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยว บริการ และการค้า ยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการรองรับการฟื้นตัว และพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจชุมชน  

สรุปข้อเสนอแผนงาน/โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดระนอง ที่ได้เสนอเข้าประกอบการพิจารณา รวม 253 โครงการ วงเงิน 541.7 ล้านบาท ประกอบด้วย พัฒนาสินค้าท่องเที่ยว บริการ และการค้า 15 โครงการ  ยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร 3 โครงการ ส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 5 โครงการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัว และพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน 130 โครงการ  เช่น โครงการฟาร์มอัจฉริยะตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาสู่การเกษตรเชิงท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน โครงการพัฒนาศักยภาพสถานประกอบการที่มีผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019  โครงการเสริมสร้างพัฒนาอาชีพผู้ประกันตนมาตรา 40 แก้วิกฤตโรคติดเชื้อโควิด-19 และโครงการส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาศักยภาพคน และฟื้นฟูเศรษฐกิจชุ มชนในจังหวัดระนอง เป็นต้น  

การดำเนินงานโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) พัฒนาสินค้า ท่องเที่ยว บริการและการค้า เช่น สินค้า OTOP ท่องเที่ยวชุมชน/ในประเทศ การค้าส่ง ค้าปลีก เป็นต้น 2) ยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร เช่น เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ Smart farming เป็นต้น 3) ส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เช่น อบรมอาชีพระยะสั้น อบรมยกระดับทักษะฝีมือ เป็นต้น และ 4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน เช่น ถนนในหมู่บ้าน แหล่งน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น 

โดยต้องมาจากความต้องการของพื้นที่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564