สสว.เดินหน้าหนุน “SME” ฝ่าวิกฤติโควิด-19

30 พ.ค. 2564 | 03:00 น.

ทางออกสำคัญที่ผู้ประกอบการ SME ใช้ฝ่าวิกฤติโควิด 19 มีตั้งแต่การหารายได้เพิ่มโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจ และบางส่วนปรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงหาพันธมิตรธุรกิจรายใหญ่เพื่อพยุงกิจการ

จากจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 3.1 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนกว่า 99.53% ของ SME ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (GDP SME) ไม่น้อยกว่า 35.5% ของ GDP รวมของประเทศ แต่จากการระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา SME จึงต้องเผชิญปัญหาท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหาย เงินทุนหด กิจการสะดุด

นายวีระพงศ์ คงมาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำรวจข้อมูลผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 จำนวน 660 ตัวอย่าง ในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2564  พบว่า ผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับในสถานการณ์ดังกล่าวนั้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด คือ วิสาหกิจขนาดกลาง เพราะมีรายได้ลดลงมากที่สุดประมาณ 63.6% และยังต้องจ่ายทั้งค่าเช่า ค่าบำรุงรักษาเครื่องมือ/อุปกรณ์ ยานพาหนะ ฯลฯ

รองลงมาคือ กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม ซึ่งมีรายได้ลดลง 61.5% และกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) มีรายได้ลดลง 61.4% ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ที่พักแรม/นำเที่ยว ยังมีธุรกิจผลิตเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจสปา และบริการด้านสุขภาพ

 

นายวีระพงศ์ คงมาลัย

สำหรับทางออกสำคัญที่ผู้ประกอบการ SME ใช้ฝ่าวิกฤติโควิด 19 มีตั้งแต่การหารายได้เพิ่มโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจ และบางส่วนปรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงหาพันธมิตรธุรกิจรายใหญ่เพื่อพยุงกิจการ และมีความต้องการรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ลดเงื่อนไขและข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จัดอบรมธุรกิจออนไลน์ ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ จัดหาช่องทางตลาดและสถานที่จำหน่ายสินค้า ที่สำคัญ คือ ต้องการให้มีโครงการนำร่องซื้อสินค้าจาก SME มาใช้ในหน่วยงานราชการ

“ปี 2563 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่ SME ต้องเผชิญปัญหาอย่างหนักต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ในฐานะที่ สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ของประเทศ และได้รับมอบหมายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถ รวมถึงขยายโอกาสทางการตลาดให้ SME สามารถฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจนี้ให้ได้”

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ด้วยบทบาทของการเป็นหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริม SME ของประเทศ แนวทางสำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้างโอกาสให้ SME ในตลาดที่สำคัญอย่าง ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ซึ่งจากข้อมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง พบว่า ตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมา SME ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในระบบฯ และการปฏิบัติตามขั้นตอน กระบวนการจัดซื้อจ้างของภาครัฐ

 

ดังนั้น สสว. จึงร่วมกับ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เดินหน้ามาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยการกำหนดโควต้าการจัดซื้อจัดจ้าง การให้แต้มต่อด้านราคา ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563

อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ สสว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขึ้นทะเบียนบัญชีรายการพัสดุและรายชื่อผู้ประกอบการ SME ผ่าน www.thaismegp.com  หรือ  “ระบบ THAI SME-GP เพื่อเป็นช่องทางนำ SME เข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น

สสว.เดินหน้าหนุน “SME” ฝ่าวิกฤติโควิด-19