วันที่ 9 มิ.ย. 2564 นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณา ว่า ตามที่ได้ชี้แจงถึงเหตุและขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และพิจารณาย้ายนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งอื่นชั่วคราว กรณีถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงการพิจารณา คดีหมายเลขดำ อท.84/2563 (คดีที่รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรรมการ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุด) ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ความและกระบวนการยุติธรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนนั้น
ล่าสุดยังคงปรากฏบทความข่าวเผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยและความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในประเด็นที่ว่า นายปรเมษฐ์ เมื่อช่วงดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 ได้เป็นเจ้าของสำนวนดังกล่าวอยู่แต่เดิม การย้าย นายปรเมษฐ์ เพื่อเปลี่ยนเจ้าของสำนวน หรือไม่นั้น
สำนักงานศาลยุติธรรม ขอชี้แจงในประเด็นข้อเท็จจริงนี้ว่า เมื่อมีการฟ้องคดีในศาลแล้วตามขั้นตอนจะต้องมีการจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและผู้พิพากษาอีกท่านเป็นองค์คณะ ผู้พิพากษารับผิดชอบดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไปตามระเบียบและกฎหมาย
สำหรับคดีนี้จากการสอบข้อเท็จจริงพบว่า เดิมมีการจ่ายสำนวนให้องค์คณะรับผิดชอบคดีแล้ว ในชั้นการพิจารณาว่าจะรับฟ้องไว้ไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ มีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของฝ่ายโจทก์เข้ามา เกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างองค์คณะและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 องค์คณะจึงขอคืนสำนวน ต่อมาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 จ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาท่านอื่นเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะรับผิดชอบคดี องค์คณะที่สองนี้ก็มีความเห็นทางกฎหมายที่ขัดกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 อีก จนมีการขอคืนสำนวนอีกครั้ง แล้วอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 จึงจ่ายสำนวนให้ตนเองเป็นเจ้าของสำนวนร่วมกับผู้พิพากษาในศาลอีกท่านเป็นงองค์คณะ ฝ่ายจำเลยจึงร้องขอความเป็นธรรมขึ้นมา จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น
โดยเรื่องนี้ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนกล่าวหาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนายปรเมษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 ส่อว่ามีเจตนาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดี โดยพยายามพูดจาโน้มน้าวให้องค์คณะที่ได้รับผิดชอบคดีออกคำสั่งหรือดำเนินกระบวนพิจารณาในทางที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า พฤติการณ์บ่งชี้ว่านายปรเมษฐ์ เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนขาดความเป็นอิสระ ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้วในการบริหารจัดการคดีที่นายปรเมษฐ์เป็นผู้บังคับบัญชาอยู่ หากนายปรเมษฐ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นขององค์คณะ นายปรเมษฐ์ก็มีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 วรรคหนึ่ง แต่นายปรเมษฐ์ไม่ใช้อำนาจดังกล่าว กลับใช้วิธีบอกให้ ผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะทำบันทึกขอคืนสำนวนหรือขอถอนตัว จนในที่สุดนายปรเมษฐ์จ่ายสำนวนให้ตนเองเป็นเจ้าของสำนวน
นอกจากนี้ เรื่องที่ นายปรเมษฐ์ มีความเห็นไม่ตรงกับผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะเดิมทั้งสององค์คณะ ก็มิใช่เหตุแห่งการขอคืนสำนวนตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 33 วรรคท้าย โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเข้าลักษณะที่ต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 62, 66 ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 77 (1)(3) คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.จึงตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายปรเมษฐ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายรวมถึงนายปรเมษฐ์เองด้วย
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวด้วยว่า เมื่อขณะนี้ข้อกล่าวหาอยู่ระหว่างการสอบวินัย ส่วนของคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลใด ๆ ผ่านสื่อมวลชน ควรตรวจสอบและระมัดระวัง มิให้กระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการและการพิจารณาพิพากษาของศาลด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่ามีสื่อมวลชนบางแห่ง นำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาลยุติธรรมเป็นอย่างมาก วันนี้สำนักงานศาลยุติธรรมจึงเข้าร้องทุกข์เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่สื่อมวลชนนั้นแล้ว