“วีรศักดิ์”นำทัพผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ถก JTC ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 3 มุ่งกระชับความสัมพันธ์และขยายการค้า การลงทุน ชี้ธุรกิจก่อสร้าง การท่องเที่ยว โรงแรมและรีสอร์ท มีศักยภาพสูง
หลังประสบความสำเร็จจากการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทยและภูฏาน(Joint Trade Committee: JTC) ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2559 ที่กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน และครั้งที่ 2 ในช่วงปี 2560 ที่ประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันด้านการค้า การลงทุน การเกษตร และการท่องเที่ยว เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วนผลักดันการส่งออกไทยให้ขยายตัวมากขึ้นและเป็นการเจาะตลาดที่ไทยยังเข้าไปไม่ถึง และล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เตรียมประชุม JTC ครั้งที่ 3 ที่กรุงทิมพู ในระหว่างวันที่ 24-27 กันยายน 2562
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐฏิจ”ว่า ในการประชุม JTC ไทย-ภูฏานครั้งที่ 3 นี้นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม กำหนดการแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันที่ 26 กันยายน 2562 จะเป็นการประชุม JTC ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 3 ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยมีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงเศรษฐการของภูฎานเป็นประธานร่วม และวันที่ 27 กันยายน 2562 การประชุม JTC ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีโดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน (H.E. Lyonpo Loknath Sahrma) เป็นประธานร่วม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
โดยการประชุม JTC ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 3 จะมุ่งเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏาน และจัดทำแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกันหรือเอื้อประโยชน์ต่อกัน อาทิ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเกษตร การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม การแปรรูปอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการรักษาพยาบาล
สำหรับการค้าการลงทุนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-ก.ค.2562) มีการค้ารวมมูลค่า 23.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี2561 ประมาณ9.9% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 23.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ โดยไทยส่งออกมูลค่า 23.34ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.07% สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปภูฎานเช่น ผ้าผืน สิ่งทออื่นๆ ผลิตภัณฑ์ ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เคหะสิ่งทอ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์รักษาผิว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับการเดินทาง เครื่องนุ่งห่ม ผลไม้สด เป็นต้น
ส่วนการนำเข้าของไทยจากภูฏานช่วง 7 เดือนแรกปี 2562 มีมูลค่า 0.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 74% โดยสินค้าที่นำเข้าจากภูฏาน เช่น เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม สิ่งพิมพ์ และเคมีภัณฑ์เป็นต้น ทั้งนี้ภูฏานเป็นตลาดส่งออกในตลาดโลกลำดับที่ 113ของไทย และเป็นตลาดส่งออกในตลาดเอเชียใต้อันดับที่ 7 ของไทย รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และเนปาล โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา(2557-2561)การส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ย 25.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมาอย่างยาวนาน โดยมีความใกล้ชิดระหว่างราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ ประชาชนมีการไปมาหาสู่กันและนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน โดยเมื่อปี 2557 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็น การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเกษตร และการศึกษา ทั้งนี้ ภูฏานได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ครั้งที่ 1 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการภูฏาน (H.E. Lyonpo Lekey Dorji) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สองฝ่ายได้หารือกันในหลายประเด็น โดยมุ่งเน้นแสวงหาแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนที่เป็นรูปธรรมไปเมื่อปี 2559ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งและครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทย
โดยในด้านการค้าและการลงทุน แม้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การค้ามีการขยายตัวมากกว่า100% และสินค้าส่วนใหญ่ของภูฏานสามารถส่งออกมาไทยโดยไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า ภายใต้ระบบ Duty-Free Quota-Freeที่ไทยให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด นอกจากนั้น รัฐบาลภูฏานมีนโยบายสนับสนุนและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนในสาขาต่างๆ ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง การท่องเที่ยว โรงแรมและรีสอร์ท การบริการสุขภาพ/การรักษาพยาบาล เป็นต้น