แบน 3 สาร ส่งออกอาหาร 1 ล้านล.ป่วน

12 พ.ย. 2562 | 10:15 น.

 

แบน 3 สาร ส่งออกอาหาร 1 ล้านล้านโกลาหล ส่อขาดแคลนวัตถุดิบ หลังมติให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 บีบเหลือทางเลือกน้อยในการนำเข้า อาหารสำเร็จรูป-ผู้เลี้ยงหมู-ไก่ ไข้ขึ้น สต๊อกวัตถุดิบเหลือใช้แค่ 2 เดือน

คณะกรรมการวัตถุอันตราย (22 ..62) มีมติให้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรี ฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ครอบครอง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เวลานี้สร้างความโกลาหลให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกในปี 2561 กว่า 1.03 ล้านล้านบาท

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปมีแน่ จะมากหรือน้อยกำลังประเมินตัวเลขกันอยู่ เพราะการขึ้นบัญชีเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีนัยว่าจากนี้ไปวัตถุดิบอะไรก็ตามที่จะนำเข้ามาสารตกค้างจะต้องมีค่าเป็นศูนย์เท่านั้น ดังนั้น ก็ต้องไปไล่วัตถุดิบนำเข้าในแต่ละตัวว่ามี 3 สารตกค้างหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ทั่วโลกยังใช้กันอยู่ ซึ่งปัจจุบันในการควบคุมสารตกค้างในอาหารที่ทั่วโลกใช้กันอยู่คือยึดตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่ระบุไว้ว่าสารแต่ละตัวต้องมีค่าไม่เกินเท่าไร ซึ่งในพืชแต่ละชนิดจะมีค่ามากน้อยต่างกัน โดยเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ

พอสารตกค้างเป็นศูนย์จะต้องแตกต่างจากค่าที่เคยอนุญาตให้ตกค้างได้ไม่เกิน 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามที่ทั่วโลกยอมรับและรับรองว่าปลอดภัย มองในแง่ดีมาตรฐานไทยสูง แต่มองในแง่การผลิตจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งวัตถุดิบจากแหล่งที่ไม่ได้ใช้ 3 สารนี้ ซึ่งจะทำให้ตัวเลือกประเทศนำเข้ามาเหลือน้อยลง เช่นเคยนำเข้าได้จาก 10 ประเทศ อาจเหลือประเทศเดียวหรือเป็นศูนย์ก็ได้ ช่องทางที่จะหาซื้อวัตถุดิบยากขึ้น และต้องกลับมาดูว่าไทยสามารถปลูกเองได้หรือไม่ ต้นทุนสู้ได้หรือไม่ เกษตรกรอยากปลูกหรือไม่ แข่งขันราคาตลาดโลกได้หรือไม่ เพราะสุดท้ายก็ต้องนำมาแปรรูปและส่งออกไป ราคาแพงกว่าประเทศอื่นหรือไม่ เรื่องนี้โยงเป็นลูกโซ่กันหมด

 

แบน 3 สาร  ส่งออกอาหาร  1 ล้านล.ป่วน

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่มีผลกระทบ อาทิ การนำเข้าถั่วเหลือง ไม่ได้แยกว่าเป็นอาหารสัตว์หรืออาหารมนุษย์ ที่นำมาแปรรูปส่งออกเป็นนมถั่วเหลือง ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว เส้นพาสต้าที่ทำจากแป้งสาลี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมและตลาดที่เกี่ยวเนื่องเป็นวงกว้าง (กราฟิกประกอบ) ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาดในประเทศ ดังนั้นหากไม่สามารถทำราคาให้ตํ่ากว่าคู่แข่งได้ก็จะเป็นปัญหาให้เดินไปสู่จุดจบได้

 

ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ส่งสัญญาณว่าสต๊อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศจะรองรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้งได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร กระทบแน่ จะให้เกษตรกรหันมาปลูกทดแทนการนำเข้าก็ยาก ยอมรับว่าเป็นห่วง แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะมีบางประเทศที่คิดว่าไทยกีดกันการค้าก็อาจจะไปฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) ในส่วนของภาครัฐจะต้องมีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอว่าที่แบนมีเหตุเชิงประจักษ์ชัดยืนยันสาเหตุที่แบนเพราะอะไร

 

 

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบ ทั้งนี้หากรัฐยังคงสารตกค้างได้ในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารยังคงเดิมก็ไม่มีปัญหาไม่กระทบเลย ซึ่งทางสมาคมจะมีการประชุมในวันที่ 28 พฤศจิกายน ซึ่งคง จะมีความชัดเจนมากขึ้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562