พาณิชย์เผยประชาชนใช้จ่ายคล่องมือหลังรับเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ประกันรายได้ยอดจดทะเบียนจักรยานยนต์ในต่างจังหวัดเพิ่ม ข้าว-แป้งราคาสูงขึ้นดันเงินเฟ้อสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน 0.21% คาดทั้งปีอยู่ที่ 0.8%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ย.2562 อยู่ที่ระดับ 102.61 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.21%ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนส.ค. 2562 ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.47% ซึ่งการขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้นสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3และการเพิ่มขึ้นของยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะการจ่ายเงินประกันราคาสินค้าเกษตร
ขณะเดียวกันก็พบว่าหมวดพลังงาน หดตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันในปีนี้เริ่มใกล้เคียงกับปีก่อนจึงมีแนวโน้มว่าหมวดพลังงานจะไม่ค่อยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อมากนัก ในขณะที่หมวดอื่น ๆยังขยายตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.51% จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 8.92%โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว ที่แหล่งเพาะปลูกเสียหายจากอุทกภัย และแหล่งน้ำมีน้อยไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ผลผลิตมีน้อย เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 1.73%ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกรหน้าฟาร์มเนื่องจากเกษตรกรรายย่อยลดการเลี้ยงและมีการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยกเว้นกุ้งขาว ราคาลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและความต้องการโลกที่ลดลง
ส่วนปลาน้ำจืด (ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล)ปริมาณลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติขาดแคลน ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 2.83% ตามการลดลงของปริมาณไก่ไข่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้) สูงขึ้น 2.05%จากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้น 0.70% และ 0.28 ตามลำดับ รวมทั้งผลไม้ สูงขึ้น 3.16% ในขณะที่ผักสด (ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง) ลดลง 5.43%ตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะต่อการเพาะปลูก ประกอบกับฐานราคาในปีที่ผ่านมาสูง เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) ลดลง 0.23% หมวดอื่น ๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.53% ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 1.97%โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 7.54 %
ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ (รถโดยสารประจำทาง รถตู้ ค่าเครื่องบิน)สูงขึ้น 6.17% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์ ) ลดลง 0.10%ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) สูงขึ้น 0.29% หมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้าค่าเช่าบ้าน หลอดไฟฟ้า) สูงขึ้น 0.30% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ค่ายา ค่าตรวจรักษา ค่าของใช้ส่วนบุคคล) สูงขึ้น 0.32 % หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญค่าทัศนาจรในและต่างประเทศ) สูงขึ้น 0.76%
สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย. 2562 เทียบกับเดือนต.ค. 2562 ลดลง 0.13% และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) สูงขึ้น 0.69% และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.53% คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2562 จะอยู่ประมาณ0.7-1% ซึ่งปรับค่าตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ระดับเงินเฟ้อมากที่สุด 0.8% แต่จะไม่ถึง 1%อย่างแน่นอน