บีโอไอ เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีพุ่ง 4.44 แสนล้านบาท เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.44 แสนล้านบาท ได้อานิสงส์จากรถไฟความเร็วสูง ปลื้ม 35% เป็นการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยานยนต์และชิ้นส่วน ได้รับความสนใจสูงสุด
การขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้เห็นภาพความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนในอีอีซีเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากตัวเลขการขอประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม ที่ยื่นขอกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) มีจำนวน 550 โรงงาน เงินลงทุนราว 1.1 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานราว 2.78 หมื่นคน ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมฯ (กนอ.) รายงานว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีตัวเลขยอดพื้นที่ขายและเช่ารวม 1,964 ไร่ จากนิคมฯ 31 แห่ง จากนักลงทุน 31 ราย เงินลงทุนราว 23,953 ล้านบาท และยังมีโรงงานที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้ ได้แจ้งเริ่มประกอบกิจการแล้ว 183 ราย เงินลงทุนราว 3.23 แสนล้านบาทเกิดการจ้างงาน 28,736 คน
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้รายงานสถานการณ์การลงทุนในปี 2562 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริม 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 7.56 แสนล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.5 แสนล้านบาท โดยอยู่ในพื้นที่อีอีซีจำนวน 506 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 444,880 ล้านบาท คิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ภาวะการลงทุนในพื้นที่อีอีซียังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม แต่ไทยยังได้อานิสงส์จากสงครามการค้าที่นักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตเข้ามา โดยเห็นได้จากช่วงปี 2562 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 506 โครงการ เงินลงทุน 4.44 แสนล้านบาท โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ที่ 1.33 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี เงินลงทุน 1.19 แสนล้านบาท ฉะเชิงเทรา 2.95 หมื่นล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 1.62 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังพบว่าการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี มีมูลค่าสูงถึง 1.54 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 35% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมทั้งหมดในอีอีซี โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนลงทุนสูงสุดที่ 6.58 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.60 หมื่นล้านบาท กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 3.56 หมื่นล้านบาท กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ 5,970 ล้านบาท และกลุ่มการเกษตรและแปรรูปอาหาร 5,853 ล้านบาท กลุ่มการท่องเที่ยว 2,407 ล้านบาท กลุ่มระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 777 ล้านบาท กลุ่มการแพทย์ 748 ล้านบาท กลุ่มอากาศยาน 545 ล้านบาท กลุ่มดิจิทัล 172 ล้านบาท
“ภาวะการลงทุนในอีอีซีปี 2562 มีมูลค่าลดลงจากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 6.83 แสนล้าน เนื่องจากไม่มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามามากนัก แต่ได้เห็นสัญญาณการลงทุนที่เข้ามาต่อเนื่อง จากมูลค่าเงินลงทุนที่ 4.44 แสนล้านบาทเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 3 แสนล้านบาท ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาส่วนใหญ่ยังเป็นญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ที่สำคัญได้อานิสงส์จากการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”
ส่วนภาวะการลงทุนในอีอีซีปี 2563 นั้น มองว่า น่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง จากที่ได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยให้โครงการลงทุนในทุกพื้นที่อีอีซีสามารถได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม (ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 3 ปี หรือยกเว้น 2 ปี) ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมฯหรือเขตอุตสาหกรรมหรือไม่ หากโครงการรับนักศึกษาฝึกงานตามจำนวนขั้นตํ่าที่กำหนด เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สำหรับโครงการที่ตั้งในพื้นที่พิเศษ (เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา หรือ EECmd) รวมทั้งนิคมฯหรือเขตอุตสาหกรรม ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีกด้วย
ทั้งนี้ มาตรการนี้ใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 จนถึงสิ้นปี 2564 แต่หากตั้งโครง การในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ EECi, EECd, EECa และ EECmd ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด
หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563