6 ปัจจัยเสี่ยงรุมซัด ส่งออกอาหารปี 63 โตตํ่า

21 ม.ค. 2563 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2563 | 09:31 น.

ส่งออกอาหารสำเร็จรูปปาดเหงื่อ 6 ปัจจัยเสี่ยงจ่อรุมกระหนํ่าทั้งภัยแล้ง ค่าบาท ขัดแย้งอิหร่าน-สหรัฐฯ ถูกจำกัดโควตานำเข้าวัตถุดิบ ต้นทุนค่าแรง ค่าขนส่ง ค่ากระป๋องพุ่งยกแผง รัฐเก็บสรรพสามิตความหวาน ภาษีที่ดินทำแบกต้นทุนเพิ่ม เล็งปี 63 ส่งออกโตแค่ 1-3% มูลค่า 1.99-2.03 แสนล้าน

 

ข้อมูลการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปจากสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปใน 6 กลุ่มสินค้า (ทูน่า, อาหารทะเล, สับปะรด, ข้าวโพดหวาน, ผักและผลไม้, อาหารพร้อมทาน) ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 (..-..) มีมูลค่า 182,539 ล้านบาท ทั้งนี้จากการประมาณการของสมาคมถึงการส่งออกสินค้าในอีก 1 เดือนที่เหลือ พบว่าภาพรวมการส่งออกทั้งปีจะมีความใกล้เคียงกับปี 2561 โดยปี 2562 จะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 198,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ประมาณ 1% และคาดการณ์ปี 2563 การส่งออกอาหารสำเร็จรูปจะทรงตัวหรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-3% (มูลค่า 199,980-203,940 ล้านบาท)

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...)ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปีนี้ ได้แก่ 1. สถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับปริมาณวัตถุดิบที่ลดลง และราคาของวัตถุดิบในการผลิตที่จะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งสับปะรด ข้าวโพดหวาน และผักผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น หน่อไม้ ข้าวโพดอ่อน ลําไย เงาะ ลิ้นจี่ และผลกระทบที่สืบเนื่องจากภัยแล้งคือ การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช เช่น การแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ในวัตถุดิบข้าวโพดหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ความผันผวนของปริมาณและราคาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยังทำให้ยากต่อการวางแผนผลิต และแผนการตลาดอีกด้วย

2. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทของไทยที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการตัดสินใจซื้อของคู่ค้าเพราะทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น 3. ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลก 4. ปัญหาด้านมาตรการนำเข้า จากการจำกัดโควตานำเข้าวัตถุดิบบางรายการที่ขาดแคลน เช่น มะพร้าว ถั่วเหลือง ทำให้เสียโอกาสทางการตลาด 5. ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งราคาวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าขนส่ง และราคากระป๋องบรรจุภัณฑ์ในประเทศสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และ 6. มาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพิ่มภาระต้นทุนการดำเนินการ และการจัดทำเอกสาร

รายการเก็บภาษีเพิ่มเติมในปี 2563 ของรัฐบาลที่จะซ้ำเติมหรือบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ อาทิ 1. ภาษีสรรพสามิตความหวาน ความเค็ม 2.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 3. ภาษีอี-คอมเมิร์ซ และ 4. ภาษีการโอนเงินระหว่างบัญชี เป็นต้น

6 ปัจจัยเสี่ยงรุมซัด  ส่งออกอาหารปี 63 โตตํ่า

อย่างไรก็ดีด้านปัจจัยที่ส่งเสริมการส่งออก ได้แก่ นโยบายการเจรจากรอบการค้าเสรี(เอฟทีเอ) กับคู่ค้าสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรป, ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP), การส่งเสริมความสามารถในการผลิตสินค้าตามมาตรฐานและปริมาณที่คู่ค้าต้องการ และสินค้าไทยได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับจากคู่ค้า

 

อุตสาหกรรมอาหารยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้า และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันได้แก่ ด้านการบริหารจัดการนํ้าเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อวัตถุดิบทางการเกษตรน้อยที่สุด, การบริหารจัดการค่าเงินบาทให้มีอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ไม่แข็งค่ามากเกินไป และการปรับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ก่อให้เกิดความผันผวนสูง เพื่อป้องกันการสั่งซื้อหยุดชะงักเนื่องจากกังวลต่อความผันผวนของค่าเงิน

นอกจากนี้ยังต้องการสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าจากทูตพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ในแต่ละประเทศ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค สถานการณ์ตลาด สถานการณ์การเมืองที่สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือรายเดิมผลิตสินค้าใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง และเป็นการเพิ่มตลาดใหม่เป็นโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ และการเร่งเจรจาการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เช่น เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู) RCEP รวมถึงการเจรจากับประเทศคู่ค้า เช่น อียูให้ยกเลิกมาตรการกีดกันการค้า เช่น AD ในสินค้าข้าวโพดหวาน เป็นต้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563