นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลักเกณฑ์โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนภาคเรียนที่1/2563 ที่จะมีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ยังมี 2 ข้อ ที่ยังสรุปกันไม่ได้ ก็คือ 1.ผู้ประกอบการรายใหญ่จะต้องมีเพดาจัดสรรโควสูงสุดไม่เกิน 80 ตัน/วัน และ ข้อ 2 ที่ทางชุมนุมฯ กังวลมากที่สุดและไม่เห็นด้วยก็คือนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนจะโยนไปแต่ละภาคไปจัดสรรกันเองนั้นทางชุมนุมฯไม่เห็นด้วย และบางกรรมการในคณะก็ไม่เห็นด้วยเพราะการจัดสรรต้องเป็นภาพรวมทั้งหมด เพราะชุมนุมมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งประเทศจะต้องจัดและเดินไปพร้อมกัน
“วันนี้ทางกรมปศุสัตว์กำลังแก้ร่างหลักเกณฑ์ เพื่อที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เห็นชอบในเร็วๆ นี้ ซึ่งแนวคิดของท่านปลัดเกษตรฯอยากให้เลือกแก้ปัญหาหลักเกณฑ์ในแต่ละภาค ยกตัวอย่าง ปัญหาในภาค 5 ก็คือ ภาคใต้ ประธานอยู่จังหวัดราชบุรี มาคุยและเจรจาให้จบกันภายในภาค ที่เป็นปัญหาก็คือ อ.ส.ค.ไม่มีโรงนมพาสเจอร์ไรส์ แต่ได้โควตาส่ง จำนวน 3 หมื่นต่อวัน ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น”
นายนัยฤทธิ์ กล่าว่า แต่ทางชุมนุมฯ อยากให้แก้หลักเกณฑ์เป็นภาพรวม ไม่ใช่แต่ละภาค เดินเหมือนกันหมด เริ่มต้นนับหนึ่งเหมือนกันใหม่ทั้ง 5 กลุ่มไม่ใช่เลือกที่จะไปแก้ปัญหาแบบโน้นแบบนี้ในแต่ละภาคไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มสหกรณ์โคนมมีทั้งประเทศอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
แหล่งข่าวผู้ประกอบการนมโรงเรียน เผยว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มีโยบายที่จะเพิ่มโควตานมโรงเรียนให้กับ อ.ส.ค.ซึ่งทางผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย เนื่องจาก อ.ส.ค.เป็นหน่วยงานรัฐจะมาแข่งขันกับเอกชนไม่ได้
โดยก่อนหน้านั้นที่จะมาจัดโควตาใหม่ในยุคคุณกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ.ส.ค.เคยได้แค่กว่า 80 ตันเศษต่อวัน ก็กระโดดมาที่ 128 ตัน/วัน ทันที แล้วจะมาเพิ่มให้อีกเอกชนก็คงจะไม่ยอม จึงเป็นที่มาของกรมปศุสัตว์ต้องแก้หลักเกณฑ์ใหม่เพื่อความเป็นธรรมให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้
อนึ่ง นมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้าน ตามมติ ครม. ให้จัดสรรแบ่งโควตา 5 ภาค
กลุ่ม 1 จะประกอบ จ.อยุธยา นนทบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี และปทุมธานี ในคณะดังกล่าวนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่ม 2 (เขต 2 และ 3 ) ประกอบด้วย จ.นครนายก ปราจีนบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สมุทรปราการ สระแก้วระยอง ชลบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และสุรินทร์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาเป็นอนุกรรมการและเลขานุการกลุ่ม 3 (เขต 4) ประกอบด้วย จ.อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย กาฬสินธุ์ เลย นครพนม มหาสารคาม หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร บึงกาฬ ร้อยเอ็ด และขอนแก่น ซึ่งคณะนี้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่มที่ 4 (เขต 5,6) พื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา น่าน สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
และกลุ่มที่ 5 (เขต 7,8,9 ) ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ราชบุรี กระบี่ นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
สำหรับหลักการของก็ให้แต่ละกลุ่มไปพิจารณาพื้นที่ของตนเองมีน้ำนมดิบปริมาณเท่าไร หากไม่เพียงพอ ก็ให้มองเขตใกล้เคียง หรือ กลุ่มไหนที่มีน้ำนมดิบเกิน ก็ให้ประสานไปที่กลุ่มข้างเคียงเช่นเดียวกัน โดยหลักให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นประธานในแต่ละคณะให้ประสานกันได้ ส่วนกลางจะออกแค่หลักเกณฑ์อย่างเดียวเท่านั้น