นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าหลังจากเข้าร่วมประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจที่เป็นเสมือน Think Tank ในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของอาเซียนรวมทั้งพิจารณาความสัมพันธ์ของอาเซียนกับกลุ่มประเทศภายนอกที่อาจมีการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกันในอนาคต
โดยที่ประชุมฯ มีประเด็นสำคัญ เช่น ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่เวียดนามเสนอให้อาเซียนร่วมกันผลักดันให้สำเร็จในปีนี้ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของเวียดนาม การประเมินผล AEC ครึ่งทางที่ผ่านมา กำหนดการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศคู่ค้าต่อจาก อาร์เซ็ปการปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับอนาคต และ เน้นย้ำการลงนามความตกลง อาร์เซ็ป ในปีนี้
โดยคณะทำงานฯ ได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผล AEC ครึ่งทางที่ผ่านมา ว่ามีความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 หรือไม่อย่างไร เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2558 ค่อนข้างมาก จึงต้องประเมินผลการทำงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายไปมากน้อยเพียงใด มีประเด็นใดที่ประสบความสำเร็จและประเด็นที่ควรปรับปรุง รวมทั้งการประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าโลกที่จะเกิดขึ้นและส่งผลต่อเศรษฐกิจอาเซียน ที่ประชุมฯ จึงได้มอบหมายสำนักเลขาธิการอาเซียนให้ทำการประเมินเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานต่อไป ให้แล้วเสร็จในปลายปี 2563 เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของอาเซียนในอนาคตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2568
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวางว่าอาเซียนควรมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับประเทศใดบ้าง ภายหลังจากการสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งกลุ่มประเทศที่เข้ามาแสดงความสนใจขอมีความสัมพันธ์กับอาเซียน ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ สหภาพยุโรป แคนาดา ชิลี สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) (สมาชิกได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย) ซึ่งขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการประเมินความเป็นไปได้และศักยภาพของประเทศที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน โดยทั้ง 4 กลุ่มมีจุดอ่อนและจุดแข็ง รวมทั้งมีมาตรฐานและความต้องการในการเปิดเสรีที่แตกต่างกัน
“ในการประชุมครั้งนี้ เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะร่วมกันผลักดันในปีนี้ภายใต้แนวคิด “อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวและพร้อมปรับตัว” (Cohesive and Responsive ASEAN) รวม 14 ประเด็น โดยเป็นประเด็นที่สานต่อจากที่ไทยริเริ่มไว้ เช่น การจัดทำกลไกเพื่อติดตามและประเมินการบูรณาการด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (IUU) และการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป หลังจากปิดดีลที่ไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมฯ ต่างก็ให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมกันผลักดันการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อาเซียนสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ไทยได้เสนอไว้ทั้งหมด เช่น การเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window ในทุกประเทศสมาชิกอาเซียน การสรุปการเจรจาอาร์เซ็ป เป็นต้น”
ในส่วนของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญของเวทีการประชุมนี้ ได้เสนอว่า HLTF-EI ควรที่จะกำหนดทิศทางเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะการปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของโลก เพื่อให้สินค้าและบริการของอาเซียนได้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้ยืนยันให้มีการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ในปีนี้ โดยปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียนจะดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้อินเดียเข้าร่วมความตกลงฯ ในปีนี้
ทั้งนี้ อาเซียนประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มีประชากรรวมกว่า 650 ล้านคน มี GDP 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.4% ของ GDP โลก โดยปัจจุบันอาเซียนได้จัดทำ FTA ทั้งสิ้น 6 ฉบับกับ 7 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และฮ่องกง โดยล่าสุดได้สรุปการเจรจา อาร์เซ็ป เมื่อปลายปี 2562 ที่ประเทศไทย