กรมวิชาการเกษตรได้จัดทําการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ผ่านทางเว็บไซต์ของกรม ระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 12 กุมภา พันธ์ 2563 รวม 15 วัน มีผู้ให้ความเห็น 10,258 คน โดย 9,590 คนหรือสัดส่วน 93.49% เห็นด้วย และมี 668 ราย หรือ 6.51 % ไม่เห็นด้วย
สาระสำคัญของร่างประกาศ คือ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย (โรงงาน 143 โรงงาน) ต้องได้รับการรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย จากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน) สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว ให้ระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงกรมโรงงานฯ และกรมวิชาการเกษตร เพื่อคัดค้านประกาศดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าทั้ง 3 มาตรฐานข้างต้น ไม่มีชาติใดในโลกออกกฎหมายให้ทำเป็นมาตรฐานบังคับ และยังมีระยะเวลาผ่อนปรนให้บางกลุ่ม 2 ปี แต่ไม่รวมถึงสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายที่ถูกจำกัดการใช้ (วัตถุอันตรายชนิดที่ 3)
หมายความว่าเมื่อร่างประกาศนี้บังคับใช้บริษัทใดที่ไม่มีทั้ง 3 มาตรฐานรับรองต้องปิดกิจการทันที ทั้งนี้สารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้ 3 สาร ที่มีกฎหมายรับรองลงวันที่ 5 เมษายน 2562 ว่าด้วยการจำกัดการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ส่วนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ให้แบนวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซตที่ให้จำกัดการใช้นั้นยังไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
สำหรับการนำเข้าสารเคมีของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท (กราฟิกประกอบ) หากรวมการซื้อขายด้วยมีมูลค่าตลาดกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าโรงงานใดขายสารไกลโฟเซต จะบังคับใช้กฎหมายทันที มองว่าไม่ถูกต้องเนื่องจากมีทะเบียนที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ จะใช้ย้อนหลังได้หรือไม่ เรื่องนี้จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อให้สอบสวนกรมวิชาการเกษตร ฐานว่ากระทำผิดพ.ร.บ. การอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 หรือไม่ ขณะที่สมาชิกบางรายกำลังจะไปฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาระงับประกาศกระทรวงดังกล่าว หากผ่านการเห็นชอบของ
คณะกรรมการวัตถุอันตราย
แหล่งข่าวคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า ร่างประกาศดังกล่าวมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ยกตัวอย่างสารชีวภัณฑ์ไม่ต้องมีมาตรฐานโรงงาน แต่ก็ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะจัดอยู่ในประเภทวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 อย่างน้อยก็ต้องมีการขึ้นทะเบียน ส่วนสารจำกัดการใช้หลังประกาศต้องได้มาตรฐานโรงงาน 3 ตัวไม่ผ่อนปรน หากไม่มีก็ไม่ให้ผลิต ที่สำคัญมาตรฐานห้องแล็บ ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตรายของกรมวิชาการเกษตรทำได้หรือยัง ที่สำคัญจะต้องพิจารณาว่าร่างดังกล่าวทับซ้อนกับ พ.ร.บ.ในการจัดตั้งโรงงาน (รง.4) หรือไม่
“ขณะนี้มีโรงงานสารเคมี 3 โรงที่ได้ 3 มาตรฐานข้างต้นหากร่างประกาศบังคับใช้จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์หรือไม่” แหล่งข่าวผู้ค้าสารเคมีตั้งข้อสังเกต
ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรและผู้บริโภค ไม่เคยรับเงินใคร ไม่รู้จักใคร ดังนั้นไม่ทราบว่า เมื่อร่างฯผ่านแล้วจะมีบริษัทใดบ้างที่มีมาตรฐานเหล่านี้
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 3563