“แท็บเลต”ในจีนเกลี้ยงสต๊อก เด็กใช้เรียนออนไลน์สู้โคโรนา

26 ก.พ. 2563 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2563 | 10:45 น.

แท็บเลตในจีนยอดขายพุ่ง ผู้ปกครองแห่ซื้อหาให้ลูกหลานเรียนทางออนไลน์ เลี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา เผยแบรนด์ดัง Huawei, Apple และ Xiaomi หลายรุ่นเกลี้ยงสต๊อก

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยโดยอ้างอิงเว็บไซต์สื่อจีนว่า จากการตวจสอบหลายแพลตฟอร์มช้อปปิ้งทางออนไลน์ของจีนพบว่า แท็บเลตหลายรุ่น กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในตลาดจีน โดยผู้บริหารฝ่ายการตลาดของบริษัทผลิตสินค้าแท็บเลตที่เมืองเสิ่นเจิ้นกล่าวว่า ผู้บริโภคชาวจีนจํานวนมากต้องการสั่งซื้อสินค้าแท็บเลตทางออนไลน์ให้ลูก ๆ เพื่อเรียนหนังสือทางออนไลน์ ทําให้แท็บเลตกลายเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดจีนในขณะนี้

“แท็บเลต”ในจีนเกลี้ยงสต๊อก เด็กใช้เรียนออนไลน์สู้โคโรนา

ทั้งนี้เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของ ไวรัส COVID-19(โคโรนา) หลายมณฑลของจีน เช่น มณฑลหูเป่ย นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเสฉวน เป็นต้น ได้ประกาศให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เลื่อนวันเปิดเทอมออกไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ และอาจมีการขยายเวลาการเปิดเทอมออกไปอีก

 

ด้วยเหตุผลนี้โรงเรียน/ มหาวิทยาลัย ต่าง ๆ ของจีนจึงเริ่มดําเนินการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยครูผู้สอนจะสอนหนังสือผ่านวิดีโอสด (LIVE) และนักเรียนจะใช้เครื่อง/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อฟังบทเรียน วิธีการนี้ทําให้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างแท็บเล็ต ซึ่งเป็นอุปกรณ์สําคัญที่ช่วยอํานวยความสะดวกในการเรียนการสอนทางออนไลน์ ได้กลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงจากกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักข่าวของ www.nbd.com.cn ได้สํารวจแพลตฟอร์มช้อปปิ้งทางออนไลน์ อาทิ JD.com Taobao เป็นต้น พบว่า ผลิตภัณฑ์แท็บเลตของ Huawei, Apple และ Xiaomi หลายรุ่น ได้จําหน่ายจนหมดสต๊อก

“แท็บเลต”ในจีนเกลี้ยงสต๊อก เด็กใช้เรียนออนไลน์สู้โคโรนา

 

ด้าน Mr. He ผู้ผลิตแท็บเลตในเมืองเสิ่นเจิ้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า โดยปกติแล้ว บริษัทจะผลิตสินค้าตามความต้องการ/คําสั่งซื้อ และจะมีสินค้าคงคลังน้อยมากในช่วงนี้ ซึ่งโรงงานอื่นๆ จํานวนมากก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ปัจจุบันเฉพาะผู้ผลิตแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น Huawei และ Xiaomi ที่มีคลังแท็บเลตจํานวนมาก แต่สินค้าบางรุ่นอาจจะขายหมดแล้ว

 

Mr. He ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระบวนการผลิตยังไม่สามารถผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาดได้ทันตามความต้องการ เพราะบางโรงงานยังขาดวัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตแท็บเลต ซึ่งยังต้องหาวัตถุดิบเพิ่มอีกมาก จึงจะสามารถนําชิ้นส่วนต่าง ๆ มาผลิตและประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ได้